Smart Farmer เกษตรกรยุคดิจิทัล แนวคิดใหม่ สร้างชาติสานต่อเกษตกรไทย

การยกระดับเกษตรกร เป็นองค์ประกอบสำคัญในการยกระดับประชากรไทย และพัฒนาให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบตามนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้นแนวคิดเรื่อง Smart Farmer จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงโดย dtac โดยร่วมกับ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาระสำคัญคือ ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับตัวเอง

เทคโนโลยีมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกษตรกร ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายแรกจึงเป็น กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เข้าใจในเทคโนโลยี และสามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรอื่นๆ ต่อไปได้ ซึ่ง dtac ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ Digital Service Provider รู้ว่าจะสามารถช่วยเหลือ เกษตรกรรุ่นใหม่ ไปสู่การเป็น Smart Farmer ได้อย่างไร

โดยมีภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer อย่างยั่งยืน

สร้างการเรียนรู้สู่เกษตรกรคุณภาพ

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac บอกว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทคคือ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer สนับสนุนการทำการเกษตรโดยนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ติดอาวุธให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมหลักสูตรการเกษตรเชิงพาณิชย์ให้กับ Young Smart Farmer ที่กรมฯ เป็นผู้คัดเลือกจากทั่วประเทศไปแล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งสร้างช่องทางให้เกษตรกรรอดพ้นจากวงจรราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

“การนำเทคโนโลยีเข้ามา เช่น เรื่อง Internet of Things (IoT) รวมถึงบริการ AgriTech ไม่ใช่แค่เพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้พวกเขามีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น และไม่ต้องกังวลในเรื่องเกี่ยวกับผลิตผล เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอยู่แล้ว ดังนั้นการสนับสนุนให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็ช่วยผลักดันแผน Thailand 4.0 ของรัฐบาล ผ่าน Value-Based Economy”

อยู่แบบยั่งยืน และไม่ได้ทำเพื่อตนเอง

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด บอกว่า การช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน คือเรื่องที่จำเป็นที่สุด และการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพวกเขาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำได้ เช่นการใช้ Social Media เพื่อหาลูกค้าใหม่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องสอนพวกเขาให้ทำเพื่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อตนเองอย่างเดียว เพราะการยั่งยืนเพียงคนเดียว ก็ไม่ใช่ประโยชน์สูงสุดในการทำเกษตรกรรม

ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตร และใช้แนวคิดเกษตรแบบครบวงจร ประกอบด้วย

  1. ทักษะการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม แรงงาน ทุน การเพาะปลูก เพาะเลี้ยง และผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร
  2. ทักษะการแปรรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เป็นไปตามระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
  3. ทักษะที่แสดงถึงความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ วางแผนในเชิงธุรกิจ พร้อมแบ่งปันบทเรียนแก่สาธารณะ
โฉมหน้า Smart Farmer

Smart Farmer ต้นแบบ ภูมิใจในอาชีพ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพ

dtac ร่วมกับ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ก่อให้เกิดการพัฒนา และเชิดชูเกษตรกรต้นแบบที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพ โดยเกษตรกรที่ได้รับรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559 รางวัลชนะเลิศ คือ อายุ จือปา วัย 31 ปี ชาวเขาเผ่าอาข่าจากจังหวัดเชียงราย เจ้าของแบรนด์กาแฟคุณภาพ “อาข่า อ่ามา”

รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ จากจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรผู้หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการทำฟาร์มผักออร์แกนิก “แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์” นำประสบการณ์ของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศอิสราเอล เริ่มจากการปรับสภาพดิน บริหารจัดการน้ำ และปรับระบบนิเวศ

รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ จากจังหวัดเชียงราย ทำเกษตรครบวงจร ปลูกข้าวและผักอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ “ไร่รื่นรมย์” ใช้นวัตกรรมพลังงานทางเลือก จัดสรรพื้นที่และแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา”

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องมาก่อนนวัตกรรม

อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา” เล่าให้ฟังว่า กว่าจะเติบโต และสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้จากการติดตามวิถีชีวิตปู่ย่าตายายต้องถูกนำมาใช้เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะหานวัตกรรมใหม่ เช่น Social Network และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะผู้สูงอายุสอนให้ชุมชนรักบ้านเกิดจริงๆ และคนรุ่นใหม่ก็คงทำได้ไม่ถึง 10% ของพวกเขา ดังนั้น Smart Famer ที่ถูกต้อง ต้องไม่ลืมท้องถิ่น

แบรนด์ “อาข่า อ่ามา” จะเริ่มไม่ได้หากขาดพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานที่อยู่ ที่ทำกิน ความรู้ และอนาคตที่ดีให้ เริ่มต้นจากการปลูกพืชเมืองหนาว จนถึงต้นกาแฟที่เป็นพันธุ์พระราชทาน ซึ่งตัวกาแฟจะมีรสชาติแตกต่างกับที่อื่น การสร้างเครือข่ายส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตกาแฟ พัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น และมีส่วนผลักดันให้กาแฟจากชุมชนบ้านแม่จันใต้ผงาดขึ้นเวทีโลกได้อย่างไม่อายใคร

ปัจจุบันเขาดูแลกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ จากวิธีการปลูก การใช้น้ำ การตาก การเก็บ กลางน้ำ คือ การแปรรูป และทำบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ “อาข่า อ่ามา” เป็นกาแฟแบรนด์ที่ติดตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา