ตอนนี้ “เกม” ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่คืออุตสาหกรรมที่น่าจับตา เพราะมันมีมูลค่าเหนือภาพยนตร์ และเพลง ดังนั้นลองมาทำความเข้าใจอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ผ่านมุมมอง Ampverse เอเจนซี่ที่เชี่ยวชาญด้านเกมโดยเฉพาะกัน
ตลาดเกมในไทย และอาเซียนที่เติบโต
ภาพรวมตลาดเกมในประเทศไทย และอาเซียนยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับในระดับโลก เพราะผู้ให้บริการเกมเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มากขึ้น สังเกตจากการจัดการแข่งขัน และการทุ่มงบการตลาดเพื่อโปรโมทให้เกมต่างๆ นั้นมีผู้เล่นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Mobile Game ที่ลงุทนกับเรื่องนี้มาก
“เกม PC ไม่มีการลงทุนเยอะๆ ในไทย และอาเซียน ต่างกับ Mobile Game ที่ทุ่มเต็มที่ เช่นในไทย หากรวมยอดดาวน์โหลด ROV, Freefire และ PUBG Mobile ก็มีกว่า 20 ล้านดาวน์โหลด หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรในประเทศไทยเลยทีเดียว” แมทเทียส เบเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอนเทนต์ของ Ampverse กล่าว
Ampverse Teaser from Charlie Baillie on Vimeo.
เมื่อมีผู้เล่นเกมมากขนาดนี้ แบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เพราะหากต้องการทำตลาดกับคนรุ่นใหม่ การทำตลาดผ่านเกมคือเรื่องที่ต้องทำ เช่นในประเทศไทยก็มีสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีมาลงโฆษณาด้วย และทำให้ภาพรวมตลาดนี้เติบโตไปอีกขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
E-Sports ไม่ใช่ทุกอย่าง และเป็นแค่อีกช่องทาง
“ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ Garena หน่วยธุรกิจเกมของกลุ่ม SEA ที่ลงทุนเรื่อง E-Sports ทั้ง ROV, Freefire และเกมอื่นๆ อย่างเต็มที่ จนแบรนด์สินค้า และบริการเริ่มมองออกว่ามันช่วยสร้างแบรนด์ หรือเพิ่มยอดขายให้พวกเขาได้จริง ซึ่งส่วนตัวมองว่ากลยุทธ์นี้จะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการเกมบนมือถือรายอื่นๆ ด้วย” แมทเทียส เสริม
อย่างไรก็ตามการลงทุนทำตลาดผ่านเกมไม่ใช่ต้องไปที่ E-Sports อย่างเดียว เพราะยังมีช่องทางอื่นๆ เช่นการสนับสนุน Streamer, การสนับสนุนทีมแข่งขัน หรือการร่วมทำโปรโมชั่นในเกมต่างๆ กับผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งการสนับสนุน Streamer นั้นก็คล้ายกับการสนับสนุน E-Sports เพราะ Streamer บางคนก็มียอดวิวหลายล้าน
“ก่อนหน้านี้ทีมงานของเราดูแล Streaming Platform รายหนึ่งในอาเซียน และเห็นว่าการลงทุนกับ Streamer นั้นช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ได้จริง และ Streamer เหล่านี้มีฐานแฟนคลับชัดเจน และค่อนข้างมี Loyalty กับ Streamer สูง” สุรศักดิ์ วินิจ รองประธานฝ่ายคอนเทนต์ของ Ampverse กล่าว
Platform ใหม่ๆ ช่วยดัน Streamer เติบโต
ปัจจุบัน Streaming Platform เนื้อหาเกี่ยวกับเกมที่ทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังมี 4-5 ราย ต่างจากเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่แทบไม่มีคนเข้ามาทำตลาดเรื่องนี้ และจากการแข่งขันนี้เอง ตัวแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ลงทุนเต็มที่ เพื่อดึงดูด Streamer ให้เข้ามาผลิตคอนเทนต์ และเพิ่มยอดผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์ม
“Streamer ไม่ได้อยากได้แค่เงิน แต่ต้องการแพลตฟอร์มที่ช่วย Support พวกเขาจริงๆ ซึ่ง Ampverse ก็เข้ามาช่วยเรื่องนี้ เช่นการสอนให้พวกเขาเรียนรู้มูลค่าของตัวเอง และต่อรองกับแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงสร้าง Ampverse Creator Network เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงแบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ ได้ดีกว่าเดิม” สุรศักดิ์ เสริม
สำหรับตัวเลข Creator ที่อยู่ในระบบของ Ampverse นั้นมีกว่า 400 คนทั่วเอเชีย ส่วนในไทยมี 51 คน และนอกจากเครือข่าย Creator ตัว Ampverse ยังมีส่วนธุรกิจ Pubishing และ Talentmangement เพื่อช่วยพัฒนา Creator และติดต่อช่องทางเผยแพร่สื่อต่างๆ ที่ Creator ผลิตเช่นกัน
อยากเป็น Streamer ต้อง Entertain ให้เป็นก่อน
เมื่อมีตัวอย่างว่า Streamer ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเกมนั้นสร้างรายได้มหาศาล ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ และเด็กๆ อยากหันมาทำอาชีพนี้มากขึ้น แต่ด้วยความยากในเรื่อง Entertain ให้เป็น พร้อมแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา มันก็ทำให้อาชีพ Streamer ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้
“ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเล่นเกมได้ แต่เด็กทุกคนเป็น Streamer ได้ไม่ทั้งหมด เพราะพวกเขาต้องมีทักษะพิเศษ และมันก็มีข้อจำกัดเหมือนกับการเป็นนักกีฬา E-Sports นั่นก็คือการต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ และหาเงินได้จริงก่อน ไม่เช่นนั้นครอบครัวคนไทยก็ยากที่จะปล่อยพวกเขาออกมาทำงานนี้เต็มเวลา” สุรศักดิ์ ทิ้งท้าย
ทั้งนี้นักกีฬา E-Sports ในปัจจุบันเริ่มทำอาชีพ Streamer ควบคู่ไปด้วย เพราะแค่เงินเดือนฝั่งนักกีฬาก็อาจมีไม่พอ ซึ่งปกติแล้วหากเป็นผู้เล่นที่มีฝีมือ ก็มักจะมีผู้ชมอยู่แล้ว เพราะต้องการศึกษาวิธีเล่นจากนักกีฬา และถึงพวกเขา Entertain ไม่เก่ง ก็มีคนดูอยู่ดี
สรุป
ภาพรวมตลาดเกม และ E-Sports ในตอนนี้คึกคักเป็นอย่างมาก และใครๆ ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับตลาดนี้ ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าจะมีผู้เล่นในรูปแบบเอเจนซี่เข้ามาอีก แต่ก็ต้องดูว่าใครจะเชี่ยวชาญกว่ากัน เพราะตลาดนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้ามาแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา