ดัชนี Melbourne Mercer Global Pensions Index ซึ่งจัดทำเพื่อวิเคราะห์ระบบบำนาญของแต่ละประเทศ ในปีนี้นั้นประเทศไทยได้อันดับ 37 รั้งท้ายสุดในผลสำรวจ
มหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย โดย Monash Centre for Financial Studies (MCFS) ได้จัดทำดัชนี Melbourne Mercer Global Pensions Index ดัชนีนี้ใช้ตัวชี้วัดกว่า 40 เงื่อนไข สำรวจระบบบำนาญทั่วโลก 37 ประเทศ ครอบคลุมระบบบำนาญ 2 ใน 3 ของทั้งโลก เพื่อวัดว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมมากแค่ไหนในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยนั้นได้อันดับ 37 ซึ่งอยู่อันดับท้ายสุดของดัชนี
- สังคมสูงวัยในญี่ปุ่นกำลังทำเศรษฐกิจแย่ ของไทยก็ร่อแร่ไม่แพ้กัน
- เปิดมุมมองธุรกิจการตลาดผู้สูงอายุ งานวิจัยเผยเป็นทั้งโอกาสอันมหาศาล และความเสี่ยงครั้งใหญ่
สำหรับประเทศไทยที่ได้เข้ามาในดัชนีนี้ครั้งแรกได้คะแนนเพียงแค่ 39.4 คะแนนเท่านั้น แพ้ประเทศอย่างอาร์เจนตินา 39.5 คะแนน ขณะอันดับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทิ้งห่างไทยทั้งหมด เช่น
- สิงคโปร์อยู่ที่ 6 ได้ 70.1 คะแนน
- มาเลเซียอยู่ที่ 17 ได้ 60.6 คะแนน
- อินโดนีเซียอยู่ที่ 28 ได้ 52.2 คะแนน
- ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 34 ได้ 43.7 คะแนน
ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนดีที่สุดประกอบไปด้วย เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน รวมไปถึงนอร์เวย์ โดยรายงานนี้ได้มีมุมมองที่สอดคล้องกับรายงานของ World Economic Forum ที่เคยทำรายงานไว้ว่าด้วยระบบบำนาญที่ดีจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีเสถียรภาพและความมั่นคงสูง
สำหรับประเทศไทยนั้นบทวิเคราะห์นี้ได้แนะนำให้ประเทศไทยนั้น เช่น เพิ่มเงินให้กับผู้สูงอายุที่ยากจน บังคับให้มีการออมขั้นต่ำเพื่อการเกษียณ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันไทยเองนั้นมีการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน การซื้อ RMF สำหรับประชาชนทั่วไป เป็นต้น
นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ยังได้ทำความสัมพันธ์เกี่ยวกับหนี้ในครัวเรือนของแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์กับขนาดสินทรัพย์บำนาญในแต่ละประเทศเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ซึ่งความสัมพันธ์นี้มีความเกี่ยวข้องกันถึง 74.4% โดยประเทศไทยนั้นหนี้ในครัวเรือนถือว่าสูงและสร้างความกังวลให้กับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา