จีนมีการประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ขยายตัวเหลือ 6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 1992 ก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงไปอีก
ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขชะลอตัวลงก็มาจากเรื่องความขัดแย้งทางการค้าที่ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนชะลอตัวตามลงไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของจีนค่อยๆ ขยายตัวลดลงจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับมากกว่า 7% ซึ่งถือว่าสูงมาก เพิ่งจะมาเริ่มต่ำกว่า 7% ในไตรมาส 3 ของปี 2015 ที่ระดับ 6.9% ณ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ตลาดมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวรุนแรงหรือที่เรียกว่า Hard Landing กอปรกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงรุนแรงด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนหน้า)
ความกังวลในเรื่อง Hard Landing ค่อยๆ จางหายไปเนื่องจากตัวเลขการขยายตัวของ GDP จีนสามารถรักษาระดับการขยายตัวที่ระดับ 6.7 – 6.9% ได้อย่างต่อเนื่อง จนมาถึงช่วงกลางปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปธน.ทรัมพ์เริ่มเปิดฉากก่อสงครามการค้ากับจีนขึ้นมา หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าขึ้น ตัวเลขการขยายตัวของ GDP จีนก็เริ่มมาแตะตัวเลข 6.5% ของไตรมาส 3 ปี 2018 หลังจากนั้นก็หลุด 6.5% ลงมายาวจนมาแตะตัวเลขที่มีความสำคัญทั้งในเชิงนโยบายและจิตวิทยาที่ 6.0% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 หรือไตรมาสล่าสุดนั่นเอง
ตัวเลขการขยายตัว 6.0% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ 6.1% ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในช่วงปลายยุค 80 และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1990 – 2000 มาก เหมือนจะน่าตกใจแต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่าช่วง 30 ปีที่แล้วกว่า 50 เท่า การขยายตัวในระดับ 6.0% ได้ก็ยังถือว่าเก่งในภาวะแบบนี้
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา IMF ก็มีการปรับเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง และยิ่ง GDP จีนขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย ยิ่งทำให้ตลาดมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ช่วงที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการค้าจัดว่าค่อนข้างเข้มข้น เรื่อง Brexit ก็ยังหาทางออกไม่เจอ รวมไปถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาเป็นระยะๆ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการปรับลดงบลงทุนของผู้ประกอบการจากความเชื่อมั่นที่ลดต่ำลง
จากการที่เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวต่ำลง ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องตัวเลขการว่างงานซึ่งเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายบริหารของรัฐบาลจีนให้ความสำคัญสูงเพราะถ้าตัวเลขการว่างงานขยับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ความมั่นคงด้านสังคมลดน้อยลง
ตัวเลขส่งออกของเดือนกันยายน ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขการผลิตก็เช่นเดียวกัน ราคาจากผู้ผลิตก็ปรับตัวลดลง 1.2% เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2017 สำหรับตัวเลขใน 9 เดือนแรกของปี 2019 โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนสำหรับการผลิต ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี ตัวเลขเงินเฟ้อก็ขยายตัวต่ำเช่นกัน ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าส่งผลกระทบด้านลบในวงกว้าง และต่อให้ได้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการสำหรับช่วงระยะแรกในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะถึงนี้ ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าก็น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาส ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขการขยายตัวของ GDP จีนที่ระดับต่ำกว่า 6.0%
มีความคาดหวังว่าธนาคารกลางของจีนหรือ PBOC คงจะมีมาตรการผ่อนคลายต่อไป โดยมีการเติมสภาพคล่องเข้ามาในระบบอีก 28,000 ล้านเหรียญ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อก็ต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น รัฐบาลคงจะใช้นโยบายทางการคลังเข้ามาช่วย รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
จากเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ตัวเลขการขยายตัวของ GDP จีนก็คงจะขยายตัวต่ำลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในระยะยาว ทางรัฐบาลต้องพยายามให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากภาคการบริโภคมากกว่าภาคการลงทุนให้ได้ เหมือนกับที่ทางสหรัฐฯ ทำได้ในช่วงที่ผ่านมา และในอนาคต ตัวเลขจากภาคบริการก็คงจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับทางฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน จากความขัดแย้งทางการค้าในช่วงที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการคงจะต้องกระจายการผลิตออกจากจีนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ประเทศที่จะได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวก็คงจะเป็นประเทศในเอเชียใต้อย่าง อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน ที่มีค่าแรงที่ยังต่ำอยู่ ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่น่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือ เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ประเทศไทยก็คงจะได้ประโยชน์เช่นกันถึงแม้จะไม่มากเหมือน 3 ประเทศที่กล่าวมา
ในด้านการลงทุนโดยเฉพาะหุ้น A-Share ปี 2019 ถือเป็นปีที่ค่อนข้างดีมากในการลงทุนในหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่อย่าง เทคโนโลยี เฮลท์แคร์ รวมไปถึงสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภคที่เป็นที่นิยมของคนชั้นกลางในจีนที่มีขนาดใหญ่กว่า 400 ล้านคน ตั้งแต่ต้นปี 2019 หุ้น Wuliangye Yibin และ Kweichow Moutai ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 154% และ 96% ตามลำดับ มาที่หุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในฮ่องกงหรือที่เรียกกันว่า H-Share หุ้น Yihai ผู้ผลิตซอสและซุปหม้อไฟสำเร็จรูปปรับตัวตัวเพิ่มขึ้นถึง 181% Haidilao ร้านหม้อไฟพริกหม่าล่าที่เพิ่งมาเปิดสาขาที่ไทยก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 117% ด้านกองทุนหุ้นจีน A-Share อย่าง KFACHINA-A ของ บลจ.กรุงศรีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 44% ขณะที่ดัชนี CSI300 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30%
ตัวเลขการขยายตัวของ GDP จีนขยายตัวลดลงก็จริง แต่อย่าไปเหมาว่าทุกอุตสาหกรรมจะเติบโตลดลงหมด ภาคการผลิตและส่งออกอาจจะหดตัวลง แต่ภาคการบริโภคยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ราคาของหุ้นในกลุ่มนี้คงจะสะท้อนการเติบโตได้อย่างชัดเจน และอย่าเหมารวมว่าตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวน้อยลงแล้วตลาดหุ้นจะแย่ไปทั้งหมด การลงทุนมีโอกาสอยู่เสมอ อยู่ที่นักลงทุนจะมองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเองครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา