นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) แห่งสิงคโปร์ ได้พูดถึงประเด็นประท้วงฮ่องกงกับนายสตีฟ ฟอร์บส์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารฟอร์บส์ ในเวทีการประชุม CEO ระดับโลก ที่ฟอร์บส์เป็นผู้จัดงานครั้งที่ 19 ปี 2019 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา (the 19th Forbes Global CEO Conference 2019)
ข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงต้องการคือ
- ให้สอบสวนตำรวจที่กล่าวหาและใช้กำลังกับประชาชน
- ให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ปัจจุบัน ถอนร่าง พ.ร.บ. แล้ว)
- ให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม
- ให้หยุดเรียกผู้ประท้วงว่าเป็นผู้ก่อจราจล
- ให้จัดการเลือกตั้งแบบสากลขึ้น (universal suffrage)
ก่อนที่ ลี เซียน ลุง จะพูดถึงประเด็นการประท้วงในฮ่องกง เขาก็พูดถึงประเด็นที่สิงคโปร์พยายามดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งหลายด้วยการทำให้รู้สึกว่าประเทศสิงคโปร์นี้ ภูมิภาคนี้ไม่ใช่พื้นที่อันตราย เขารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง เขารู้สึกห่วงใยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเขาก็เห็นว่ามันไม่ง่ายเลยกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงต้องการ
เขาบอกว่ามันไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่จะช่วยแก้ปัญหาในฮ่องกงได้ แต่มันเป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้รัฐบาลอับอายและต้องการโค่นล้มรัฐบาลเสียมากกว่า
เขาเห็นว่าประเด็นเรื่องหนึ่งประเทศสองระบบอย่างที่ฮ่องกงเป็นมา มันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เขาพูดถึงมุมมองจีน จีนไม่ได้มองว่าฮ่องกงเป็นหนึ่งประเทศ แต่มองว่าเป็นสองระบบ ขณะที่ฮ่องกงก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นสองระบบ แต่คิดว่านี่เป็นหนึ่งประเทศ ถึงอย่างไร ฝ่ายนิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo: Legislative Council of Hong Kong) ก็ต้องเป็นฝ่ายเลือกผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้ามาให้ผู้คนเลือกอยู่ดี และนี่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว
การจะใช้ universal suffrage หรือการเลือกตั้งแบบสากลทั่วไป (ที่ไม่ใช่นอมิจีนหรือจีนไม่ได้เลือกให้มาก่อน ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งเท่ากันนั้น) ต้องเข้าใจก่อนว่าฮ่องกงไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเขตบริหารพิเศษ ต้องทำงานภายใต้กฎหมายภายใน (Basic Law)
ลี เซียน ลุงคิดว่ามันทำให้สำเร็จได้ แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบต่อไปได้อีก 22 ปี หรือจนกว่าจะถึงปี 2047 (Basic Law หมดอายุปี 2047 เหลืออีก 28 ปี)
ในมุมมองของลี เซียน ลุง บอกว่า ข้อเรียกร้องแบบให้มีการเลือกตั้งที่เป็นสากล (universal suffrage) นี้เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญ เขาหยิบประเด็นบ้านที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงมากในฮ่องกง ทำให้ชาวฮ่องกงโดยเฉพาะหนุ่มสาว ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ แม้กระทั่งจะเช่าอยู่ยังแพงมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเรียกร้องเพราะเขามองไม่เห็นอนาคตที่รุ่งเรืองของตัวเอง
ลี เซียน ลุง ยังทิ้งท้ายอีกว่า รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถใช้แนวทางเดิมๆ ในการบริหารประเทศได้อีกแล้ว เพราะปัญหาที่แท้จริงก็ยังไม่ถูกแก้ ในระยะยาวก็คงแก้ปัญหาได้ แต่มันต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าจะก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือต้องทำให้อุณหภูมิทางการเมืองตอนนี้เย็นลงเสียก่อน เพื่อที่จะทำให้เรา (หมายถึงรัฐบาลฮ่องกง) สามารถทำงานร่วมกับประชาชนได้
มองด้านหนึ่ง เราอาจเข้าใจได้ว่า ลี เซียน ลุง กำลังด่าผู้ประท้วง โปรจีนหรือหนุนจีนอย่างออกนอกหน้า ซึ่งถ้าเขาจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับประเด็นนี้และเลี่ยงที่จะไม่ตอบเพื่อเป็นการรักษาสัมพันธไมตรีอันดีต่อจีนและฮ่องกงก็ย่อมได้ โดยใช้ไพ่ไม่แทรกแซงกิจการภายในแบบที่อาเซียนชอบทำก็ไม่แปลก
แต่ลี เซียน ลุง เลือกที่จะแสดงความคิดเห็นนี้ ถ้ามองในแง่บวก อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ เตือน แบบเพื่อนเตือนเพื่อน แต่เตือนบนเวทีที่รับรู้กันทั่วโลก ในแง่ของประชาชนผู้ประท้วงชาวฮ่องกง อาจไม่พอใจเท่าไรกับความคิดเห็นเช่นนี้ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า แครี แลม ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผู้ประท้วงบางส่วนมองว่าเป็นหุ่นเชิดของจีน และต้องการให้ลาออกจากตำแหน่ง
สถานะทางเศรษฐกิจที่ชาวฮ่องกงเผชิญในปัจจุบันคือ รายได้ต่ำ ค่าครองชีพสูง ไร้ความสามารถในการหาซื้อที่อยู่อาศัย
ลี เซียน ลุงไม่ได้พูดเกินจริงในแง่เศรษฐกิจ ถือว่าโหดร้ายสำหรับชาวฮ่องกงอยู่ไม่น้อย แรงกดดันด้านเศรษฐกิจของฮ่องกงนั้น ค่าครองชีพติดอันดับ 1 ของโลกพอๆ กับสิงคโปร์เลย
ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวฮ่องกงหากเทียบตามสัดส่วนราคาที่อยู่อาศัยต่อรายได้นั้น ฮ่องกงอยู่ที่ 20.9 ขณะที่อัตราส่วนในระดับโลกหากเทียบกับประเทศอื่นในการจัดหาซื้อบ้านได้ค่อนข้างยากมากนั้น สิงคโปร์อยู่ที่ 4.6 นิวยอร์กที่ 5.5 และโตเกียวอยู่ที่ 4.8 อาจกล่าวได้ว่าระดับ 20.9 ในฮ่องกงนั้นคือ เรียกง่ายๆ ว่าชาวฮ่องกงไม่สามารถจัดหาซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้เลย
รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 2,589 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 2,900 เหรียญสหรัฐ และโตเกียวที่ 2,860 เหรียญสหรัฐ แต่สูงกว่ากัวลาลัมเปอร์ 1,009 เหรียญสหรัฐ
ใครที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับจีนและทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศ จะถูกบดเป็นผุยผง
ก่อนหน้าที่ลี เซียน ลุงจะได้รับเชิญให้พูดในเวทีฟอร์บส์นี้ สี จิ้นผิงที่ได้ไปเยือนเนปาลและได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีเนปาล ช่วงอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งจะกล่าวย้ำกับผู้นำเนปาลไปว่า
“จีนซาบซึ้งที่เนปาลยึดมั่นนโยบายจีนเดียว และยังสนับสนุนจีนอย่างแน่วแน่ต่อผลประโยชน์ของจีน การกระทำใดๆ ก็ตามที่มีแนวโน้มจะแบ่งแยกประเทศจีน จีนจะทุบให้แหลกละเอียด บดผู้นั้นให้กลายเป็นผุยผง”
เท่านี้ก็เป็นการขู่ ป้องปราม เตือนโดยผู้นำจีนเองกลายๆ ว่า ไม่ว่าใครก็ตามอย่ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งแยกประเทศจีนเด็ดขาด
เสรีภาพของชาวฮ่องกง ไม่เคยมีอยู่จริง ?
ประเด็นเรื่องเสรีภาพของชาวฮ่องกงนี้ เวยเจียน ชาน (Weijian Shan) เขียนบทความใน Financial Times ได้น่าสนใจ เขาพูดถึงจุดเริ่มต้นของการประท้วงในฮ่องกงที่มาจากการเรียกร้องต่อต้าน พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งในที่สุดผู้ประท้วงก็ทำได้สำเร็จ
เขาพูดถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยที่สูญหายของชาวฮ่องกง เขาพูดถึงตัวเองว่า เขาย้ายไปอยู่ฮ่องกงในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ เขาก็ไม่เห็นว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทั้งในเรื่องเสรีภาพทางการเมืองด้วย นับตั้งแต่มีการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยฮ่องกงไปยังจีนในปี 1997
จากนั้นเขาก็ไล่เรียงเรื่องเสรีภาพที่ชาวฮ่องกงมีอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ไปจนถึงฝ่ายนิติบัญญัติของฮ่องกงที่ถูกเลือกมาแล้วโดยอังกฤษ ไปจนถึงผู้ว่าการฮ่องกงฯ เองก็ถูกเลือกโดยคณะกรรมาธิการเพื่อการเลือกตั้ง ที่แม้สมาชิกจะถูกขยายจำนวนจาก 400 รายเป็น 1,200 ราย นับตั้งแต่ 1997 ถึง 2010 ซึ่งรวมสภานิติบัญญัติไปด้วยแล้ว ก็เป็นตัวแทนที่ถูกเลือกโดยภาคธุรกิจและภาคอื่นๆ อยู่ดี
ในส่วนของกฎหมายภายในที่เป็น Basic Law นี้ จีนก็เคยให้คำมั่นว่าจะทำให้มันก้าวหน้า และมีทิศทางไปสู่การเลือกตั้งแบบสากล (universal suffrage) ก็ตาม แต่เหตุการณ์เช่นนั้นก็ยังไม่เคยมาถึง
สรุป
กฎหมายภายในของฮ่องกง (Basic law) จะหมดอายุภายใน 20 กว่าปีข้างหน้า เนื้อในที่ระบุว่าเพื่อปกครองฮ่องกงเป็นหนึ่งประเทศสองระบบนั้น ก็ระบุชัดเจนว่าอยู่ในความดูแลของจีน ไม่ว่าจะเป็นการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong Special Administrative Region) รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติอื่นๆ จีนจะเป็นผู้เลือกให้เอง เป็นลักษณะเลือกคนของตัวเองเพื่อให้ประชาชนเลือกเองอีกที ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกเองตั้งแต่แรกเริ่ม
ในประเด็นของการเลือกตั้งสากล (Universal suffrage) นั่นก็เป็นคำกล่าวอ้าง แต่ไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร แต่อย่างน้อยชาวฮ่องกงก็ถือว่าเริ่มต้นในการเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ดี เพราะในที่สุด พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ถูกถอนออกไปแล้ว
แต่ข้อเรียกร้องอื่นๆ ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจะพอยอมรับที่จะนำไปทำตาม แต่ประเด็นที่ให้มีการเลือกตั้งสากลนั้น อาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขกฎหมายภายในที่ไม่ให้จีนผูกขาดอำนาจในการเลือกผู้แทนในการปกครองฮ่องกงก่อน ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ค่อนข้างยากอยู่ดี ถ้าจีนยังมองว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการในการแบ่งแยกประเทศเท่านั้น
ที่มา – South China Morning Post, BBC, Financial Times, The Basic Law of The Hong Kong, Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China, Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา