วิชั่น Tencent 2020 สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าขายคอนเทนต์

เทนเซ็นต์ ประเทศไทย เดินหน้าโฟกัส 3 กลยุทธ์ “นวัตกรรม สร้างคอมมิวนิตี้ สร้างเนื้อหาแตกต่าง”โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี พลิกโฉม Sanook  JOOX  WeTV เทนเซ็นต์ เกมส์ สู่ผู้นำดิจิทัลแพลตฟอร์ม

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด เล่าว่า โครงสร้างธุรกิจหลักของเทนเซ็นต์ ในไทยมีด้วยกัน 3 ธุรกิจหลัก คือ เว็บไซต์สนุก (Sanook) แหล่งรวมคอนเทนต์รอบด้าน ส่วน JOOX (จู๊กซ์) WeTV (วีทีวี) และเทนเซ็นต์ เกมส์ เป็นขาธุรกิจทางด้านเอ็นเตอร์เม้นต์ และขาธุรกิจที่ 3 โซลูชั่น การใช้บริการอย่างเทนเซ็นต์ คลาวด์ (Tencent Cloud) ที่เริ่มปูพรมในระยะหนึ่งแล้ว

“ผมว่าการสร้างรายได้จากคอนเทนต์เหมือนกับถูกลอตเตอรี่มากกว่า เทนเซ็นต์ต้องมุ่งสร้างแพลตฟอร์ม เส้นทางสู่ปี 2020 โฟกัส 3 กลยุทธ์ คือ การพัฒนานวัตกรรม สร้างคอมมิวนิตี้ และการสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นแตกต่าง”

Sanook
โลโก้ใหม่ Sanook

ดึงเทคโนโลยีสร้าง Sanook ให้แตกต่าง

การแข่งขันเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้น และคนจะเลือกเสพข่าวสารมากขึ้นเช่นกัน เทนเซ็นต์ จึงปฏิเสธที่จะต้องมุ่งสร้างเนื้อหาโดดเด่นและแตกต่างจากเว็บอื่นๆ  เป็นยุคที่ผู้สร้างคอนเทนต์ ต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อสื่อสารมากขึ้น นอกจากจะรีแบรนด์ครั้งใหญ่ฉลองครบรอบ 21 ปี ด้วยการเปลี่ยนโลโก้แล้วนั้น เทนเซ็นต์พัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ มาพร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆ

  • การถ่ายทอดเนื้อหาข่าวสารในรูปแบบเสียง ( Text to speech)
  • การสร้างเนื้อหาข่าวสารผ่านการใช้รูป
  • พัฒนาระบบ Machine Learning
  • การเพิ่มคอลัมน์พิเศษสำหรับนักเขียนกิตติมศักดิ์
  • เปิดแพลตฟอร์มใหม่ Sanook77.co

เว็บไซต์ Sanook สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะคนเสพคอนเทนต์เปลี่ยนไปไม่ต้องการอ่านบทความต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 30% ในขณะที่การทำ Podcast เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ 2559 มีผู้คนรู้จักเพียง 22% และปี 2562 เพิ่มเป็น 64%

ขณะเดียวกันการใช้รูป วิดิโอ ช่วยทำให้คนเสพคอนเทนต์ได้ง่าย สะดวก ซึ่ง บลูมเบิร์ก เริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แล้ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาระบบ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ในทุกช่วงอายุได้ดียิ่งขึ้น

การเปิดแพลตฟอร์มใหม่ Sanook77.co ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกในระดับภูมิภาค เป็นหนึ่งกลยุทธ์รักษาฐานลูกค้าต่างจังหวัด คนเสพคอนเทนต์เป็นต่างจังหวัด 60% เรามองโอกาสการสร้างรายได้จาก Sanook มากขึ้น หากสินค้าต้องการเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ หรือแม่บ้านก็สามารถเข้ามาทำตลาดได้

สร้างคอมมิวนิตี้ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์

ยุคการทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ต้องใช้สูตร O2O หรือออนไลน์กับออฟไลน์ เทนเซ็นต์ ต้องการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเข้าไปเอ็นเกจเม้นต์เชื่อมโยงระหว่างผู้ฟัง ผู้ชมในโลกออนไลน์มาสู่ออฟไลน์

ในส่วนธุรกิจเพลง JOOX เทนเซ็นต์สร้างคอมมิวนิตี้ (Community) เชื่อมโยงการดำเนินชีวิตของคนในยุคดิจิทัลเข้ากับแพลตฟอร์ม โดยเชื่อมทุกโมเม้นต์ทางดนตรีให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนในยุคดิจิตัล อาทิ การเชิญชวนกลุ่ม Influencer ในด้านต่างๆ เข้ามาสร้างความบันเทิงกับผู้ฟังผ่านฟีเจอร์ JOOX VDO Karaoke ที่ผู้ใช้งานสามารถแชร์เพลงที่ตนเองร้อง หรือการจัดคอนเสิร์ต

พัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายแบรนด์ดิ้ง แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น บริษัท เทนเซ็น (ประเทศไทย) จำกัด

เหตุผลที่ต้องทำออฟไลน์ มาจากผู้ใช้งานมือถือ 89% ถ่ายรูปจากคอนเสิร์ตและมีการแชร์รูปผ่านผ่านทางโซเชียลมีเดีย และกลุ่มคน 13-24 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ 20 ชั่วโมง และลดเวลาการดูทีวีลงเหลือ 8 ชั่วโมง ดังนั้นแบรนด์จะต้องสร้างประสบการณ์ตรง สร้างเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้เผยแพร่ เทรนด์ดังนั้นส่งผลให้มีแบรนด์ต่างลงทุนการจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้น 47%

สำหรับกลยุทธ์การเติบโตของ JOOX มองได้ว่าเรามุ่งออนไลน์กับออฟไลน์ โดยการสร้างเรื่องราว และเอ็นเกจเม้นต์ เพื่อเพิ่มผู้ใช้งานมากขึ้น จากฐานผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 15-30 ปีเป็นหลัก การไปต่างจังหวัดค่อนข้างเหนื่อย แต่การจัดกิจกรรมต่างๆ มองถึงการได้กลุ่มอื่นๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกันแต่อาจจะต่างเพศหรือต่างวัยก็ได้

และธุรกิจ We TV หลังจากเปิดแพลตฟอร์มให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งที่ได้เปิดตัวไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ปีหน้าจะเห็นการสร้างคอนเทนต์ออริจินัล (Original Content) ที่แตกต่างและโดดเด่น การทำซีรี่ย์ ออริจินัล โดยเฉลี่ย 2 ซีรี่ย์ต่อไตรมาส ประเดิมด้วย โปรเจ็คต์ใหญ่ “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรี่ย์” (Bad Genius the Series) จะเปิดตัวกลางปีหน้า

“การพัฒนาซีรี่ย์ ออริจินัล เพื่อให้เราต่างจากคู่แข่ง เทนเซ็นต์วางแผนร่วมกับพันธมิตร และก็เป็นโอกาสนำคอนเท้นต์ไปจีน ผ่านทางเทนเซ็นต์ วิดิโอ มีฐานผู้ชมร่วม 500 ล้านรายต่อเดือนในจีน”

ทว่าสมรภูมิวิดีโอสตรีมมิิ่ง ถือว่าเป็นตลาดแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเวลานี้ ทั้งเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ไลน์ทีวี (LINE TV) เอชบีโอโก ไอฟลิกซ์ ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมชิงฐานผู้ชม ด้วยการสร้างคอนเทนต์แตกต่างกันทั้งนั้น 

เทนเซ็นต์ มองตลาด E-Sport  ในไทยนับว่าเป็นตลาดใหญ่ติดอันดับ 20 ของโลกมีมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปลุกปั้น ธุรกิจเทนเซ็นต์ เกมส์ มีเกมดังระดับโลกอย่าง PUBG Mobile (พับจีโมบาย) ยังคงเดินหน้าสร้างคอมมิวนิตี้ผ่าน eSport Ecosystem ในประเทศไทยและในระดับโลก เช่น การจัดอีเว้นท์เพื่อแข่งขัน เพื่อเชื่อมโยงโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน

ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสู่ธุรกิจโซลูชั่น 

ที่ผ่านมาธุรกิจของเทนเซ็นต์รายได้หลักมาจาก ธุรกิจ B2C จีงไม่แปลกเมื่อธุรกิจหลักของเทนเซ็นต์ คือ มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นจึงโดดลงมาเล่นในตลาดโซลูชั่น เพื่อขยายธุรกิจเจาะกลุ่ม B2B

ในด้านนวัตกรรม (Innovation) ปัจจุบันเรามีการพัฒนานวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโซลูชัน และเทคโนโลยี อย่างเทนเซ็นต์ คลาวด์ (Tencent Cloud) ที่ช่วยจัดการทางธุรกิจ ลดต้นทุน สะดวก ปลอดภัย และสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพให้กับทุกองค์กรได้แบบยั่งยืน

เมื่อมองถึงรายได้ของโครงสร้างธุรกิจ เทนเซ็นต์ เกือบ 70% มาจาก เว็บไซต์ Sanook  JOOX  เทนเซ็นต์ เกมส์ ส่วนธุรกิจโซลูชั่น We TV ยังคงมีรายได้น้อยเพียง 30% และรายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณาสินค้าไม่ถึง 50% แล้วก็ตาม ดังนั้นเทนเซ็นต์ จึงต้องสร้างรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากโฆษณาสินค้า

เป้าหมายของเทนเซ็นต์ นายกฤตธี กล่าวสรุปว่า เราจะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มชั้นนำของประเทศ ที่มีบทบาทในการสร้างปรากฎการณ์สำคัญ ผ่านแพลตฟอร์มและโซลูชั่นต่างๆ ที่เรามีให้สามารถตอบสนองทุกความต้องการในยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา