สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ชี้แจงว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ FAA ได้ออกคำสั่งสมควรเดินอากาศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 ต.ค. ให้มีการตรวจสอบเครื่องบินโบอิ้ง 737 ตามเงื่อนไขและขั้นตอนของ FAA
จากเหตุการณ์ เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ถูกสั่งระงับบิน หลังเกิดปัญหาร้ายแรงสองครั้ง โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนต.ค. ปี 2561 เมื่อเครื่องบินของสายการบินไลอ้อนแอร์ในอินโดนีเซียประสบอุบัติเหตุตกในทะเลชวา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 189 ราย ต่อมาในเดือนมี.ค. 2562 เครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ของสายการบินเอธิโอเปียในแอฟริกา ซึ่งจะเดินทางไปยังกรุงไนโรบีของเคนยา ประสบอุบัติเหตุตกหลังจากขึ้นบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้งหมด 149 คน และลูกเรือ 8 คน เสียชีวิตทั้งหมด ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน
ล่าสุด สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ออกคำสั่งสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา คำสั่ง FAA ดังกล่าวกำหนดให้มีการตรวจสอบเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานตามเงื่อนไขดังนี้
- เครื่องบินที่มีอายุการใช้งาน Fight Cycle มากกว่า 30,000 รอบ จะต้องได้รับการตรวจสอบภายในวันที่ 10 ต.ค. 62
- เครื่องบินที่มีอายุการใช้งาน Fight Cycle ตั้งแต่ 22,600 – 29,999 รอบ จะต้องได้รับการตรวจสอบภายใน 1,000 รอบ หลังจากวันที่มีคำสั่ง (3 ต.ค.62)
สถานการณ์สายการบินในประเทศไทย
- สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีเครื่องบินแบบ Boeing 737 อยู่ทั้งหมด 30 ลำ แบ่งเป็นแบบ Boeing 737-900ER จำนวน 19 ลำและ Boeing 737-800 จำนวน 11 ลำ โดยมีเครื่องบินที่มี Flight Cycle (FC) มากที่สุดอยู่ที่ 15,949 รอบ ดังนั้น อากาศยานทุกลำของบริษัทต้องคงทำการบินต่อไปได้โดยยังไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ
- สายการบินนกแอร์ มีเครื่องบินแบบ Boeing 737 อยู่ทั้งหมด 14 ลำ เป็นเครื่องบินแบบ Boeing 737-800 มีจำนวนรอบมากกว่า 30,000 รอบ 1 ลำ และอีก 13 ลำที่เหลือมีจำนวนรอบเกิน 22,600 รอบ ซึ่งต้องทำการตรวจสอบตามเงื่อนไขและขั้นตอนดังกล่าว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา