ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย เพียงแต่ชะลอการขยายตัว

แบงก์ชาติรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6 เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา เผยแพร่ 9 ตุลาคม พบว่า ในภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการส่งออก การผลิตและการลงทุน จากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน-ญี่ปุ่น) มีแนวโน้มชะลอลงตามภาคการผลิตและส่งออก 

การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศคู่ค้า มีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ​ (Fed) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับลดอีกครั้งภายในปีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ 

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปก็เพิ่งประกาศชุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือนกันยายนเช่นเดียวกัน ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การใช้มาตรการเข้าซื้อพันธบัตร การขยายเวลาเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่งก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ภาพจาก Shutterstock

ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ภาวะตลาดการเงินโลกผันผวนตามพัฒนาการการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน และสถานการณ์ Brexit ขณะที่ตลาดการเงินภายในประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อนที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของไทยปรับลดลง

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับลดลงเร็วสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ตามภาวะการเงินโลก ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามปัจจัยในตลาดการเงินโลก

ตลาดการเงินในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มผันผวนสูง คณะกรรมการยังกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งภายใต้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์และปรับมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม ทั้งการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายขาออก การส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ การส่งออกสินค้าหดตัว ส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้

การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงกดดันจากรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนที่ปรับลดลงในหลายภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตส่งออก รวมทั้งครัวเรือนในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

ภาพจาก Shutterstock

แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2562 – 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 ในปี 2563 ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.3 และ 3.7 ตามลำดับ 

ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจมีแนวโน้มไปด้านต่ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอาจขยายต่ำกว่าคาดจากปัจจัยไม่แน่นอนหลายด้าน ซึ่งมีทั้งการกีดกันทางการค้า อุปสงค์ในประเทศขยายตัวชะลอกว่าคาดจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ความล่าช้าของโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้อาจปรับดีขึ้นหากบรรยากาศการกีดกันทางการค้าผ่อนคลายลง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิม ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ด้วยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิม และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคมจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมครั้งนี้ 

ภาพจาก Shutterstock

ความเสี่ยงจากจุดอื่นๆ ที่ต้องติดตาม 

การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกบี้ยต่ำ ทำให้ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร โดยเฉพาะระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ กล่าวคือ ส่วนต่างระหว่างอาคารชุดที่เปิดขายทั้งหมด (รวมทั้งโครงการทั้งที่อยู่ในสถานะยังไม่ก่อสร้าง อยู่ระหว่างก่อสร้าง และสร้างแล้วเสร็จ) กับอาคารชุดที่ขายได้แล้วทั้งหมด (นับตั้งแต่เกิดการซื้อขายใบจอง โดยไม่คำนึงถึงสถานะการก่อสร้างของโครงการว่าจะแล้วเสร็จหรือไม่) (อุปทานคงค้างนี้อาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการได้ กรณีที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอ)

ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย

ช่วงถาม-ตอบ งาน Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น คำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่? 

ผู้ว่าการ ธปท. วิรไท สันติประภพ ระบุ เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ประมาณการเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.8 ปีนี้และร้อยละ 3.3 ปีหน้า ไม่ได้ถดถอยแต่ขยายตัวชะลอลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ที่ประชาชนและนักธุรกิจหลายท่านรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ภาวะธุรกิจหดตัวแรงนั้น เป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ที่พบว่าเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัว บางธุรกิจขยายตัวดีมาก บางธุรกิจหดตัว

ปัจจัยโครงสร้างที่สำคัญ 3 เรื่องคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจ e-commerce และ platform ขยายตัวดีมาก การขนส่งซื้อขายออนไลน์ในไทยเพิ่มขึ้นจากหมื่นชิ้นต่อวันเป็นล้านชิ้นต่อวัน

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไป คนซื้อบริการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพมากกว่าจะซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น บ้าน

การแข่งขันและการเข้าถึงเทคโนโลยี บริษัทขนาดใหญ่ได้เปรียบบริษัทขนาดเล็ก ตัวเลขหนี้เสียของบริษัทขนาดใหญ่ลดลง แต่บริษัทขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจัยชั่วคราว คือผลจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมและธุรกิจไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจะได้รับผลกระทบ

ทำไมอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่กลับรู้สึกว่าสินค้าแพง

วิรไทระบุว่า เกิดจากปัญหาการกระจายตัว สินค้าคงทน สินค้าเทคโนโลยี ปัจจุบันราคาถูกลงมาก สินค้าพวกนี้มูลค่าสูง มีสัดส่วนใหญ่ในตะกร้าเงินเฟ้อ แต่เราไม่ได้ซื้อสินค้าประเภทนี้ทุกวัน

ขณะที่สินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มีราคาต่ำ มีสัดส่วนน้อยในตะกร้าเงินเฟ้อ แต่ราคาปรับสูงขึ้น เราซื้อใช้ทุกวัน เมื่อนำสองกลุ่มมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำแต่เรารู้สึกว่าของแพงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางในการดูแลการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไร 

ค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่ กนง. ห่วงใย และธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการดูแล การเปลี่ยนค่าเงินบาทเกิดขึ้นหลายปัจจัย ทั้งสถานการณ์ต่างประเทศ ตลาดการเงินโลกผันผวน เสี่ยงตั้งแต่ต้นปี ไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน เมื่อจีนได้รับผลกระทบ ไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ส่งออกจะติดลบ แต่การนำเข้าของเราติดลบมากกว่า ทำให้เกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมากจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

การส่งออกทองคำของไทย ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทางการเมืองระหว่างประเทศ ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนไทยซื้อทองคำไว้ในช่วงก่อนหน้า เร่งขายทำกำไรส่งออกต่างประเทศ จึงมีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามา

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทไทยเพิ่มขึ้น มีการขายหุ้นระดมทุนของบริษัทใหญ่ ข้อตกลงมูลค่าสูงระดับหมื่นล้าน เงินทุนไหลเข้าก็มีผลในการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน

ภาพจาก Shutterstock

มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาดูแลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

Foreign Exchange Liberalization จะมีการประกาศกระบวนการด้านกฎหมายภายใน 1-2 เดือน เช่น ให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ผู้ส่งออกพักเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น สร้างทางเลือกให้ผู้ส่งออกไทย

ดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ ทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายทองคำไม่มีแรงกระแทกกับค่าเงินมากเกินไป

ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ภาคเอกชนต้องลงทุนเยอะขึ้นด้าน digital infrastructure ของเครือข่าย 5G สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ลดกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง ทำแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุนแฝงของการลงทุน

ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้าเกินไปหรือน้อยเกินไป

เมธี สุภาพงษ์​ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด มีมติเอกฉันท์ 7:0 ให้คงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 ตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคม คือขยายตัวทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการส่งออกต่ำกว่าคาด

บางท่านคาดการณ์ว่า กนง. จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 1.25 นั่นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นไม่ได้ อนาคตข้างหน้ามีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอีกมาก ถ้ามีความจำเป็นดอกเบี้ยก็ต่ำกว่าร้อยละ 1.25 ตามหลักการ data dependent ที่ชั่งน้ำหนัก 3 เรื่อง คือเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน

ช่วงท้ายวิรไท สันติประภพเสริมว่า ผู้ประกอบการบางท่านอาจประสบเรื่องเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ช่วงเดือนที่ผ่านมา ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามภาวะที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว และยังให้ความสำคัญคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2), (3), (4)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา