ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการ Food Delivery นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และเพื่อเพิ่มโอกาสให้ร้านอาหารต่างๆ ใกล้ชิดผู้ซื้อมากกว่าเดิม Grab จึงเปิด GrabKitchen ครัวกลางที่สร้างมาสำหรับ Food Delivery โดยเฉพาะ
Cloud Kitchen ที่กลายเป็นกระแส
ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคในการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ผ่านบริการ Food Delivery หรือส่งอาหารถึงบ้านที่มีมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารหลายร้านประสบปัญหาในการบริหารจัดการ เพราะต้องทำอาหารเพื่อเสิร์ฟในร้าน และทำเพื่อลูกค้าที่สั่งผ่านบริการ Food Delivery
ในทางกลับกันพี่ๆ ขับมอเตอร์ไซค์ของบริการ Food Delivery ต่างๆ ที่ขับมารับอาหาร บางคนก็ต้องขับไปร้านอาหารที่อยู่ไกล และต้องไปส่งอาหารที่มีจุดหมายอยู่ไกลเช่นกัน ก็ทำให้พวกเขาเหนื่อยจนเกินไป และลดประสิทธิภาพในการรับงานแต่ละวันด้วย
ดังนั้น Cloud Kitchen หรือครัวกลางที่สร้างมาสำหรับประกอบอาหารเพื่อบริการ Food Delivery จึงเกิดขึ้น เพราะช่วยร้านอาหารให้แยกส่วน Food Delivery ออกมา และช่วยให้พี่ๆ คนขับไม่เหนื่อย ผ่านการรวมร้านที่มียอดสั่งเยอะๆ เอาไว้ที่เดียว ซึ่งล่าสุด Grab ได้สร้างสิ่งนี้ออกมาแล้วในชื่อ GrabKitchen
ต่อยอดจากอินโดฯ สู่ประเทศไทย
“ตอนนี้เราทดลองมา 1 เดือนในประเทศไทยผ่านการเปิด GrabKitchen ที่ตลาดสามย่าน ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ผ่านการเปิดตั้งแต่ 08.00-22.00 น. มี 12 ร้านเข้ามาอยู่ในครัวกลางนี้ เช่นเอลวิสสุกี้, อองตอง ข้าวซอย และตามสั่งสิ้นคิดเป็นต้น ครอบคลุมรัศมีการส่ง 8 กม.” ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย กล่าว
ก่อนหน้านี้ Grab ได้เปิด GrabKitchen ในอินโดนิเซีย 18 สาขานับตั้งแต่ปลายปี 2561 และเปิดในเวียดนามแล้ว 1 แห่ง เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีการเติบโตในบริการ Food Delivery ในชื่อ GrabFood ค่อนข้างเร็ว และมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างในการจัดส่ง ทำให้การมีครัวกลางจึงค่อนข้างตอบโจทย์บริการนี้
อย่างไรก็ตามตัวรูปแบบธุรกิจของ GrabKitchen นั้นจะชาร์จค่าธรรมเนียมกับร้านอาหารที่เข้ามาตั้งครัวใน Cloud Kitchen แห่งนี้มากกว่าปกติ แต่ทาง Grab ก็มีการทำตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการสั่งอาหารที่นี้ ส่วนเรื่องค่าอาหารนั้นอยู่ที่ทางร้านว่าจะตั้งเท่าไร ทาง Grab ไม่ได้กำหนด
วางแผนเพิ่ม GrabKitchen แน่นอน
“จากผลตอบรับ 1 เดือนแรกที่เราเปิดมาก็ค่อนข้างดี ทำให้ Grab มีแผนเปิด GrabKitchen ในประเทศไทยเพิ่ม แต่ยังดูอยู่ว่าจะเปิดที่ไหน และขนาดเท่าไร เพราะพื้นที่ในกรุงเทพค่อนข้างจำกัด และที่เราเลือกสามย่านเป็นแห่งแรก เพราะมีหลายร้านดังอยู่ใกล้ๆ สามย่าน ถ้าเอามารวมกันอยู่ที่เดียวก็คงดีไม่น้อย” ธรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ Grab ให้บริการ GrabFood ถึง 10 จังหวัดในประเทศไทย และมีแนวโน้มขยายเพิ่มเติมโดยดูที่ความเหมาะสม นอกจากนี้ยังเตรียมสร้างแพลตฟอร์มโฆษณาสำหรับร้านอาหารที่สนใจ เพื่อเพิ่มยอดขายนอกจากการทำตลาดโดยตัวร้านอาหารเอง
ขณะเดียวกันด้วยเศรษฐกิจที่ทรงๆ ในปัจจุบัน Grab ยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มอยากหาแหล่งรายได้ใหม่ ซึ่งการทำ Gig Economy หรือการเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับ Grab ก็ช่วยเหลือพวกเขาเรื่องนี้ได้ และทำให้ธุรกิจของ Grab เติบโตไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์
สรุป
ตลาด Food Delivery นั้นแข่งขันกันอย่างดุเดือดจริงๆ เพราะทุกเจ้าทุ่มเต็มที่เพื่อเป็นเจ้าตลาด และเชื่อว่าอนาคตจะดุเดือดไปเรื่อยๆ แน่นอน ดังนั้นต้องจับตาดูว่า ผู้เล่นรายอื่นจะเดินเกมแบบเดียวกับ Grab หรือไม่ และ Grab จะมีโอกาสขยายไปทำร้านอาหารที่เน้น Delivery อย่างเดียวเลยหรือเปล่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา