ปรับความเข้าใจ Mindset คนทำ Startup ยุค Gen Z ที่ “เตี่ย” ไม่เข้าใจ

ภาพจาก Pixabay.com

มีใครเป็น “ตึ่งนั้ง” กันบ้างครับ? เผื่อใครไม่รู้จัก คำนี้หมายถึง “ลูกคนจีน” นั่นเองครับ ขึ้นชื่อว่าคนจีนแล้ว ต้องมีคำว่า “ค้าขาย” ประทับบนใบหน้ามาตั้งแต่เกิดแน่นอน จะว่าชนชาติจีนเป็นเผ่าพันธ์ที่ค้าขายเก่งที่สุดในโลกก็คงไม่แปลกหนัก ที่พอเทียบเคียงได้ก็คงเป็นชาวยิว

เชื่อว่าใครที่เป็น ตึ่งนั้ง ย่อมเกิดมาในครอบครัวค้าขาย ตั้งแต่ขายปลีกเล็กๆน้อยๆหน้าปากซอย ไปจนถึงตระกูลเจ้าสัวเจ้าของธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ หนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิคของธุรกิจเอสเอ็มอีไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางก็คือการสืบทอดต่อกิจการ

ยุคที่ อากง เป็นคนเริ่มธุรกิจ ปัญหาเรื่องหาคนมารับช่วงกิจการต่อคงไม่ยาก เพราะ เตี่ย (รุ่นพ่อ) ก็คงไม่มีทางเลือกมากนัก  อากงสั่งให้หยุดเรียนมาทำธุรกิจก็ต้องทำ แต่พอถึง Gen สามต้องมารับมอบกิจการต่อนี่สิ ปัญหาเริ่มมีแล้ว เพราะเด็กยุค Gen X เริ่มเรียนสูง เรียนคณะมีคลาส บางคนจบนอก หลายคนไม่อยากทำธุรกิจที่ดูแล้ว ไม่เท่ห์ (ทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่ส่งพวกเอ็งเรียนจบนะเฮ้ย) อย่างขายของจุกจิกหรือโรงงานเก่าๆ ซอมซ่อ แต่คนรุ่นนี้เชื่อว่า Mindset ของการทำธุรกิจยังไม่ต่างจากรุ่นเตี่ยมาก อาจจะเห็นเตี่ยทำงานหรือสอนมาตั้งแต่เล็กเลยเกิดความซึมซับ

ภาพจาก Pixabay.com

แต่เชื่อว่ามาถึงยุค Gen Z ซึ่งเป็นรุ่นที่เริ่มหางานทำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Mindset ของการทำธุรกิจอาจจะต่างจากรุ่นเตี่ยเเบบคนละทิศคนละทางเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะยุคที่ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังครองเมืองในเวลานี้ ถ้าเล่าให้คนรุ่นเตี่ยซึ่งมี Mindset ความเป็นเอสเอ็มอีที่สูงมาก อาจจะนึกในใจก็ได้ว่า “พวกลื้อทำอะไรกัน อั๊วไม่เข้าใจ” ที่เห็นชัดๆก็คือ คนรุ่นเตี่ยจะ “ยึดติดความเป็นเจ้าของ” ไม่ยอมให้คนนอกตระกูลมาร่วมหุ้น ตรงข้ามกับสตาร์ทอัพที่เปิดทางให้ใครก็ไม่รู้มาถือหุ้น

ส่วนตัวผมมองว่าเตี่ยจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรคนทำสตาร์ทอัพควรจะต้องศึกษา Mindset ของการทำธุรกิจเอสเอ็มอีไว้บ้าง และนำมาปรับใช้กับการทำสตาร์ทอัพ อย่างเช่น

ข้อแรก…เรื่องของความเป็นเจ้าของ แม้การทำสตาร์ทอัพ จะมีโอกาสให้เจ้าของหรือ Founder ได้มีโอกาส Exit หรือขายหุ้นบางส่วนออกไป ต่างจากเอสเอ็มอีที่เจ้าของจะถือหุ้นส่วนใหญ่ไปตลอด จนกว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ (แต่ก็ยังถือหุ้นมากกว่าคนอื่นอยู่ดี)

แม้การขายหุ้นตัวเองออกไป จะเป็นการสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพในการบริหาร (ตามวัฒนธรรมแบบฝรั่ง) ตรงข้ามกับแนวคิดของคนเอเชียที่ยึดติดกับความเป็นเจ้าของ ซึ่งการที่เจ้าของหรือ Founder ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แม้จะมีการเพิ่มทุนโดย VC  จะมีความผูกพันกับบริษัทมากกว่าคนที่แทบไม่เหลือหุ้นในมือแน่นอนและจะมีแรงกระตุ้นในการบริหารให้ดีต่อเนื่อง (เพราะเมื่อไรเกิดตัวเลขสีแดงบรรทัดสุดท้ายก็เหมือนเลือดไหลออกจากตัว)

ภาพจาก Pixabay.com

ข้อสอง…มองความยั่งยืนมากกว่าหวือหวา แม้ขึ้นชื่อว่าสตาร์ทอัพจะต้องโตเร็ว ต้องแจ้งเกิดหลังเปิดให้บริการในทันที ตรงข้ามกับเอสเอ็มอีที่เน้นโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สุดท้ายแล้ว คนทำสตาร์ทอัพก็ต้องทำธุรกิจระยะยาวอยู่ดี ไม่ใช่คิดจะทำกันแค่สามสี่ปีซะเมื่อไร ถ้ามองเพียงแค่เกมส์สั้น สตาร์ทอัพก็ไม่ต่างอะไรจาก Money Games ธรรมดา

ข้อสาม…ให้ความสำคัญกับงบกำไรขาดทุน ที่ผ่านมา คนทำสตาร์ทอัพมักจะให้ความสำคัญกับมูลค่าการระดมทุนเป็นหลัก แน่นอนว่ามันดูหวือหวาและทำให้งบกระแสเงินสดของบริษัทมีเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจ แต่สำหรับเอสเอ็มอี สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองบกำไรขาดทุน เพราะถ้าผลการดำเนินงานติดลบ โอกาสพับกิจการก็มีสูง

ภาพจาก Pixabay.com

คนทำสตาร์ทอัพ จึงควรให้ความสำคัญกับงบกำไรขาดทุนรวมถึงอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ลองสำรวจตัวเองดูว่าสามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเองแล้วหรือยัง หรือเลือดยังไหลออกจากบริษัททุกๆเดือน ต้องรอ VC มาต่ออายุให้ แบบนี้เสียวแทน…

ทั้งนี้ พื้นฐานของผู้ประกอบการแต่ละคนทั้งเงินทุน ต้นทุนทางสังคม ความรู้ ฯลฯ มีไม่เท่ากัน จะเริ่มต้นสตาร์ทอัพแบบไหนไม่มีคำว่าผิดถูก ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ผมมองว่าทำธุรกิจแบบโตยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับสามข้อดังกล่าวแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT