“กูเกิล” มีชื่อเสียงมายาวนานในแง่การลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมในระยะยาว เราเห็นพนักงานของกูเกิลไปสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของบริษัทมากมาย เช่น รถยนต์ไร้คนขับ โดรนส่งสินค้า บอลลูนกระจายสัญญาณเน็ต หุ่นยนต์ที่เดินไปเหมือนมนุษย์ คอนแทคเลนส์วัดระดับเบาหวานจากน้ำตา ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ ผู้ก่อตั้งทั้งสองคน Larry Page และ Sergey Brin อธิบายว่านี่คือความท้าทายระดับ “ยิงจรวดไปถึงดวงจันทร์” (Moonshot Mission) ที่กลายเป็นต้นแบบให้บริษัทไอทีหลายแห่งต้องทำตาม และช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของกูเกิลในแง่บริษัทนวัตกรรมมากมายมหาศาล
ภารกิจที่หลากหลายมากขึ้นของกูเกิลในช่วงหลัง ส่งผลให้กูเกิลต้องจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ มีบริษัทแม่ Alphabet เป็นร่มใหญ่ ภายในแยกเป็น “กูเกิล” ที่ทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตเหมือนเดิม และหน่วยธุรกิจใหม่ที่เรียกรวมๆ กันว่า Other Bets การเดิมพันเพื่ออนาคตในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของ Alphabet ยังมาจากฝั่งกูเกิลเกือบทั้งหมด ในขณะที่ฝั่ง Other Bets มีแต่รายจ่าย และตัวเลขนี้รวมกันมากถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 แถมยังดูสูงขึ้นทุกๆ ปี
สถานะทางการเงินของ Alphabet ยังมั่นคงและร่ำรวยมหาศาล พร้อมทุ่มเงินในฝั่งของ Other Bets ไปอีกหลายปี (ผู้ก่อตั้งทั้งสองก็พร้อมจะทุ่มเพื่อสิ่งเหล่านี้) แต่ทุกสิ่งกำลังเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อต้นปี 2015 บริษัท Alphabet เปลี่ยนตัวซีเอฟโอคนใหม่เป็น Ruth Porat ซีเอฟโอหญิงผู้แข็งแกร่งจากบริษัทการเงิน Morgan Stanley ที่มาทำงานด้วยภารกิจเพียงข้อเดียว “สร้างวินัยการเงินให้ Alphabet”
ผลที่เกิดขึ้นคือโครงการสารพัดในฝั่ง Other Bets เริ่มถูกตัดงบ ถูกควบคุมวินัยการใช้จ่าย โครงการที่ไม่มีแนวโน้มทำเงินถูกตัดทิ้ง
Bloomberg รายงานว่าปัญหาของกูเกิลคือมีความสนใจที่หลากหลาย ไม่โฟกัส และเมื่อบวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่ให้อิสระทีมงานแต่ละทีมทำงานกันเอง ส่งผลให้กูเกิลมีผลิตภัณฑ์หรือทีมงานซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก เช่น มีบริการเพลงออนไลน์ 2 อัน (YouTube Red, Google Play Music) มีหน่วยลงทุน 2 หน่วย (GV, CapitalG) หน่วยวิจัยระดับสูง 2 หน่วย (Google X และ ATAP)
ฝั่งของซีอีโอ Larry Page เองก็มีวิธีคิดที่มัก “เพิกเฉย” ไม่สนใจทีมงานที่เขาไม่ชอบแนวทาง แต่ก็ปล่อยให้ทำงานกันต่อไปโดยไม่สนใจอะไรมากนัก สภาพการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริหารทีมย่อยต่างๆ ไม่พอใจ และผู้บริหารเก่งๆ หลายคนก็เริ่มทยอยลาออกไปจากบริษัท
การแก้เกมของ Larry Page คือจัดโครงสร้างบริษัทใหม่เป็น Alphabet ที่เป็นบริษัทแม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นมีบริษัทลูกจำนวนมากที่มีอิสระในการบริหารงาน มีงบประมาณของตัวเอง โดยมอบหมายงานฝั่งกูเกิลให้กับ Sundar Pichai ผู้บริหารชาวอินเดียมารับตำแหน่งเป็นซีอีโอ
Ruth Porat คือผู้บริหารคนสำคัญที่กูเกิลดึงตัวเข้ามาช่วยจัดระเบียบ Alphabet ให้เข้าที่ อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบของเธอก็ส่งผลให้ผู้บริหารจำนวนมากในฝั่ง Other Bets ลาออกไปเช่นกัน เช่น Chris Urmson หัวหน้าทีมรถยนต์ไร้คนขับ, David Vos หัวหน้าทีมโดรน, Craig Barratt หัวหน้าทีม Google Fiber, Bill Maris, หัวหน้าทีมลงทุน GV, Tony Fadell ซีอีโอของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอัฉริยะ Nest ซึ่งเหตุผลเป็นเพราะผู้บริหารเหล่านี้ “สูญเสีย” อำนาจในการทำตามความฝันหรือวิสัยทัศน์ของแต่ละคน อย่างที่เคยถูกสัญญาว่าจะได้รับในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานกับกูเกิล
พนักงานในกูเกิลหลายคนเริ่มเรียก Ruth Porat ว่าเป็น “Ruthless Ruth” (Ruth ไร้ปราณี) การคุมเข้มวินัยการเงินของ Other Bets อาจส่งผลให้ “ความเป็นกูเกิล” (googliness) ที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทต้องหายไป และเป็นสัญญาณว่า Alphabet เริ่มไม่ต่างอะไรจากบริษัทมหาชนขนาดใหญ่รายอื่นๆ ที่ต้องตอบคำถามของนักลงทุนในเรื่องปันผลและราคาหุ้น แทนการนำเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปทำการทดลองที่แปลกใหม่แต่ไม่ได้เงิน (ราคาหุ้นของ Alphabet เพิ่มขึ้น 35% หลังจาก Ruth Porat มารับตำแหน่ง)
ในอีกทาง นี่อาจเป็นสัญญาณว่า แนวความคิดล้ำๆ ในฝั่ง Other Bets ไปได้ไม่ไกลอย่างที่คุยกันไว้ตอนแรก โดยที่ปรึกษาของ Larry Page รายหนึ่งระบุว่า Page ไม่พอใจที่ Google Fiber ไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก จนสุดท้ายบริษัทต้องปลดพนักงานออกจำนวนหนึ่ง ปรับแผนธุรกิจ ส่งผลให้ Craig Barratt หัวหน้าทีมประกาศลาออกในวันเดียวกัน
Astro Teller หัวหน้าทีม X คนปัจจุบัน ยังยืนยันว่า Alphabet คือแดนสวรรค์ของวิศวกร แต่ก็อธิบายว่าภารกิจของบริษัทคือ “ตามหานวัตกรรมที่คุ้มค่าแก่การลงทุน” นวัตกรรมที่ Alphabet จะเลือกทำต้องสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา