เปิดตำนาน 58 ปี “เชลล์ชวนชิม” ผู้บุกเบิกรีวิวร้านอาหารยุค 1.0

มาร่วมเปิดตำนานเชลล์ชวนชิม หนึ่งในตำนานการรีวิวร้านอาหารของประเทศไทยที่มีอายุ 58 ปีแล้ว วันนี้ได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับการปรัวตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ต้นแบบแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารยุคอนาล็อค

ลองย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มี Wongnai ไว้หารีวิวร้านอาหาร ไม่มีเพจดังๆ ในเฟซบุ๊กไว้ดูรีวิวอาหาร ตอนนั้นเรานึกถึงอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ในการหาร้านอาหารอร่อยๆ ทาน

แน่นอนว่าชื่อของ “เชลล์ชวนชิม” ต้องเป็นชื่ออันดับต้นๆ ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก และเป็นตำนานของการรีวิวร้านอาหารในยุคอนาล็อคเลยก็ว่าได้ คอนเทนต์ส่วนใหญ่จะอยู่ในหนังสือพิมพ์ หรือรายการโทรทัศน์ และได้มอบสัญลักษณ์ให้แก่ร้านค้าเป็นเป็นเครื่องยืนยันว่าได้รับการันตีจริงๆ

ถ้า Wongnai คือแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารแห่งยุค 4.0 เชลล์ชวนชิมก็คือผู้บุกเบิกรีวิวร้านอาหารยุค 1.0 นั่นเอง

ถ้าให้พูดง่ายๆ เชลล์ชวนชิมก็เปรียบเสมือน “มิชลิน ไกด์” ฉบับไทยๆ ที่มีการให้รางวัล ให้สัญลักษณ์การันตีแก่ร้านอาหารนั้นๆ ซึ่งร้านที่ได้รับการรีวิวก็มียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคย่อมอยากตามไปชิมอาหาร แต่เชลล์ชวนชิมเคลมว่าของตนเองมีจุดเด่นที่มีกรรมการเป็นคนไทยล้วนๆ ทำให้เข้าใจรสชาติอาหารของคนไทยมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

ความเหมือนกันระหว่างมิชลิน ไกด์ กับเชลล์ชวนชิมก็คือ ร้านอาหาร กับการเดินทาง มิชลินไกด์มีสปอนเซปอร์หลักคือยางมิชลิน ส่วนเชลล์ชวนชิมมีสปอนเซอร์หลักคือ เชลล์แห่งประเทศไทย เจ้าของปั๊มน้ำมันเชลล์ เป็นแนวคิดที่มองว่าเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มการเดินทางได้

ในปีนี้เชลล์ชวนชิมได้มีอายุครบ 58 ปีแล้ว มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2504 มีความเป็นมาคร่าวๆ โดยเริ่มจาก “ม.จ.ภีศเดช รัชนี” ซึ่งในสมัยนั้นท่านทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย และโฆษณาของเชลล์ ได้ทรงดำริที่จะส่งเสริมการใช้ “แก๊สหุงต้ม” สำหรับร้านอาหาร และครัวเรือนให้เป็นที่แพร่หลาย

ท่านจึงได้ทรงปรึกษากับ “ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” ได้เกิดเป็นแนวคิดที่จะชูเรื่องอาหาร โดยการแนะนำอาหารอร่อยในประเทศไทย ถือเป็นการกำเนิด “เชลล์ชวนชิม” เป็นครั้งแรก โดยมีเชลล์เป็นผู้สนับสนุน

คอนเทนต์ของเชลล์ชวนชิมได้เริ่มตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ วันที่ 4 ตุลาคม 2504 โดยที่ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ใช้นามปากกาว่า “ถนัดศอ” ส่วนร้านอาหารเจ้าแรกที่ได้รับตราเชลล์ชวนชิมคือ ร้านก๋วยเตี๊ยวลูกชิ้นสมองหมู หรือก๋วยเตี๊ยวห้าหม้อ

สำหรับที่มาของชื่อเชลล์ชวนชิม มีการคิดออกมามากมาย จนผลสรุปออกมาที่ชื่อ “ชวนชิม” แต่ท่านภีศเดชได้ทรงเติมคำว่าเชลล์เข้าไปเพิ่ม จึงออกมาเป็นเชลล์ชวนชิม แล้วตกลงว่ามีม.ร.ว.ถนัดศรีเป็นผู้ชวนชิม และเขียนแนะนำ ซึ่งมีบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้สนับสนุนตลอดรายการ

โดยที่มีนโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ แนะนำอาหารอร่อยที่ได้มาตรฐานต่อผู้บริโภค ราคาถูก หรือแพงไม่สำคัญ แต่ขอให้อร่อย และที่สำคัญต้องเป็นการแนะนำฟรี ไม่มีการเก็บค่าตอบแทนใดๆ ไม่มีการจ้างรีวิว

แต่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเชลล์ชวนชิมไม่ได้มีการทำการตลาดเท่าที่ควร ทำให้ไม่มีการแจกสัญลักษณ์แก่ร้านอาหารเพิ่ม ที่ผ่านมีมีการให้เชลล์ชวนชิมรวม 2,000-3,000 ร้านค้า ในปีนี้เชลล์ชวนชิมพร้อมที่จะกลับมาปลุกตำนานรีวิวอาหารขึ้นมาใหม่ พร้อมกับทายาท “ม.ล. ภาสันต์ สวัสดิวัตน์” บุตรชายของม.ร.ว ถนัดศรีนั่นเอง

โลโก้สื่อถึงกินดีมีสุข

ในส่วนของโลโก้เชลล์ชวนชิม ในยุคแรกมีการใช้เป็นรูปหอยเชลล์ และมีเปลวแก๊สแลบออกมา เพื่อเป็นการโปรโมทการใช้เชลล์แก๊สที่เชลล์เพิ่งจะสั่งเข้ามาใช้ในเมืองไทยแทนการใช้ถ่าน

ซึ่งในช่วงแรกๆ คนไทยยังไม่คุ้นชินกับการใช้แก๊สเท่าไหร่นัก เพราะว่ากลัวระเบิด กลัวอุบัติเหตุต่างๆ เชลล์ชวนชิมจึงใช้เปลวแก๊สเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้ รวมทั้งเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้แก๊สหุงต้มอย่างปลอดภัยด้วย เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้การใช้แก๊สติดตลาดมากขึ้น

หลังจากนั้นไม่นานเชลล์แก๊สก็เป็นที่รู้จักกันทั่ว และเมื่อมีการใช้ที่ติดตลาดในประเทศไทยจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครัวไทยสมัยใหม่ เชลล์ชวนชิมจึงได้เวลาเปลี่ยนโลโก้ใหม่

ซึ่งโลโก้ใหม่นี้มีการใช้จนชินตาจนมาถึงยุคปัจจุบัน เป็นรูปชามลายครามถือว่าเป็นเครื่องกังไสลายผักกาดที่นิยมเล่นกันมากในสมัยร. 5 โดยที่ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ไอเดียมาจากกรุเครื่องลายครามที่ได้รับมรดกตกทอดมา

อีกทั้งโลโก้ชามลายครามเป็นรูปภาชนะอันเป็นสัญลักษณ์ของอาหารการกิน ส่วนลายครามก็เป็นสัญลักษณ์ของความเก่าแก่แต่สูงค่า สามารถสื่อได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการกินดีกินเป็นนั่นเอง

5 ร้านอาหารรุ่นแรกที่ได้รับเชลล์ชวนชิม

  1. ลูกชิ้น-มันสมองหมู ไทยทำ(ลูกชิ้น 5 หม้อ) ร้านแรกที่ได้ป้ายเชลล์ชวนชิมตั้งแต่ปี 2504 ของกินโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

2. บะหมี่ปูสะพานพุทธบะหมี่เจ้าเก่ากว่า 85 ปี เปิดขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476

3.เป็ดย่างจิ๊บกี่ เปิดขายมานานร่วม 80 ปี

4.ข้าวหน้าไก่ห้าแยกพลับพลาไชย พูนเลิศ (เหลาะงาทิ้น)

5. หัวปลาหม้อไฟต้มเผือก ภัตตาคารตั้งจั๊วหลี เจ้าแห่งตำนานหัวปลาหม้อไฟแบบแต๊จิ๋วที่ถือเป็นร้านเชลล์ชวนชิมรุ่นแรก ขนานแท้ลำดับที่ 5

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา