เชลล์ชวนชิมกลับมาอีกครั้งในรอบ 8 ปี สานต่อตำนานในการรีวิวร้านอาหารยุคแรกๆ ของเมืองไทยของม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ โดยทายาท ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์
เชลล์ชวนชิมครบรอบ 58 ปี
ถ้าพูดถึงชื่อ “เชลล์ชวนชิม” เชื่อว่าหลายคนยังคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี บางคนเติบโตมากับคำๆ เลยก็ว่าได้ ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่สื่อดิจิทัลยังไม่บูมขนาดนี้ ยังไม่มีเพจรีวิวร้านอาหาร ไม่มีแอพพลิเคชั่นแนะนำร้านอาหาร เชลล์ชวนชิมนี่แหละก็คือต้นกำเนิดของการรีวิวร้านอาหาร เป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีความอร่อยของร้านนั้นๆ
ชื่อของเชลล์ชวนชิมเป็นตำนานมาได้ 58 ปีแล้ว เริ่มปฏิวัติวงการอาหารไทยตั้งแต่ปี 2504 มีจุดเริ่มต้นโดย “ม.จ. ภีศเดช รัชนี” ซึ่งในสมัยนั้นท่านทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย และโฆษณาของเชลล์ ได้ทรงดำริที่จะส่งเสริมการใช้แก๊สหุงต้มสำหรับร้านอาหาร และครัวเรือนให้เป็นที่แพร่หลาย
ท่านจึงได้ทรงปรึกษากับ “ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” คุณชายนักชิมจนเกิดเป็นแนวคิดที่จะชูเรื่องอาหารโดยการแนะนำอาหารอร่อยในประเทศไทยถือเป็นการกำเนิด “เชลล์ชวนชิม” ขึ้นมาโดยมีเชลล์เป็นผู้สนับสนุนมาตลอด 58ปี
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเชลล์ชวนชิมได้การันตีร้านอาหารรวมกว่า 2,000-3,000 ร้านค้า แต่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเชลล์ชวนชิมได้หยุดการทำตลาดไป จึงไม่ได้เห็นสัญลักษณ์ของเชลล์ชวนชิมเท่าไหร่นัก
สานต่อตำนานด้วยทายาทนักชิม
หลังจากที่ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ผู้บุกเบิกตำนานเชลล์ชวนชิมได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่ตำนานของเชลล์ชวนชิมก็ไม่ได้ปิดตายไปด้วย
แม้จะเงียบหายไป 7-8 ปี วันนี้เชลล์ชวนชิมพร้อมกลับมาอีกครั้ง ในฐานะตราสัญลักษณ์ที่เข้าใจรสชาติคนไทยมากที่สุด โดยได้รับเกียรติจาก “ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์” บุตรชายของม.ร.ว.ถนัดศรีเข้ามาสืบทอดตำนานนักชิม
ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรืออิ๊งค์ บุตรชายคนเล็ก มีนามปากกาว่า “ปิ่นโตเถาเล็ก” ได้ตามคุณพ่อไปชิมอาหารตั้งแต่ยังเล็กๆ จนลิ้นซึมซับวิธีการชิมมาจากพ่อ ม.ล.ภาสันต์ได้บอกว่า “มรดกที่ได้จากคุณพ่อก็คือ ลิ้น นั่นเอง” ส่วนนามปากกาก็มาจากที่ข้อความที่คุณพ่อได้เขียนถึงในคอลัมน์เชลล์ชวนชิมว่า… ไปไหนก็หิ้วปิ่นโตเถาเล็กไปด้วยเสมอ
เมื่อม.ล.ภาสันต์อายุ 38 ปี ได้ลาออกจากงานประจำแล้วมาทำสิ่งที่ตัวเองรักคือ การเป็นนักเขียนแนะนำร้านอร่อย โดยให้คำจำกัดความงานของตัวเองว่าอาชีพกิน และเที่ยว โดยที่สามารถขยายความออกไปได้หลายอย่าง
ต่อมามีผลงานออกมามากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กรวมเล่ม กินอร่อยตามรอยถนัดศรี, คอลัมน์ตามรอยพ่อไปชิม ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันตั้งแต่ปี 2546, จัดกูร์เมต์ทริปทั้งในประเทศ และต่างประเทศ, เป็นเจ้าของสกู๊ป “อิ๊งค์ Eat All Around” ในคลื่นวิทยุ Cool ฟาเรนไฮต์ ให้ผู้ฟังได้ร่วมทริปกินเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศตั้งแต่ปี 2554
รวมถึงเป็นพิธีการรายการโทรทัศน์ทั้งรายการอาหาร และท่องเที่ยว ปัจจุบันเป็นกรรมการในรายการ MasterChef Thailand ซีซั่น 1-3, MasterChef Junior Thailand ซีซั่น 1-2, ศึกค้นหาเชฟกระทะเหล็ก The Next Iron Chef Thailand ซีซั่น 1, คอมเมนต์เตเตอร์ในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับสินค้าหลายตัว และอีกบทบาทกับการเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น
จากผู้บุกเบิกรีวิวอาหาร สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
ในอดีตเชลล์ชวนชิมเป็นคอนเทนต์อยู่อยู่ในรูปแบบของสื่อดั้งเดิม หรือพูดง่ายๆ ก็คืออยู่ในช่องทางหนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์ แต่การกลับมาครั้งนี้ได้ทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล โดยมีทั้งช่องทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอพพลิเคชั่น
โดยที่เกณฑ์การคัดเลือกร้านอาหารต้องอร่อย รสชาติกลมกล่อม มีความเป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น บางร้านต้องจองล่วงหน้าก่อน 3 เดือน หรือต้องเข้าแถวรอ หรือจะเป็นร้านดั้งเดิม ร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านอาหารชาววัง หรือแม้แต่คาแร็คเตอร์ของเจ้าของร้านก็มีส่วนด้วยเช่นกัน
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด บอกว่า
“สำหรับการสานต่อการครบรอบ 58 ปีของเชลล์ชวนชิมในครั้งนี้ เชลล์ได้ทำให้เชลล์ชวนชิมมีภาพลักษณ์ และรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้นสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันที่มักจะหาข้อมูลใหม่ๆ ทางออนไลน์เพื่อตามรอยในช่วงเวลาพักผ่อนหรือในระหว่างการเดินทาง
โดยสามารถเข้าถึงร้านอร่อยในตำนานเชลล์ชวนชิมผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มได้ บนเว็บไซต์ www.shellshuanshim.com เฟซบุ๊ก และยูทูปเชลล์ชวนชิม เพื่อให้เชลล์ชวนชิมเป็นสัญลักษณ์ความอร่อยของคนทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ เชลล์ยังมีแผนการที่จะนำร้านที่ได้รับตราเชลล์ชวนชิมไปเปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในอนาคตอีกด้วย”
นอกจากม.ล.ภาสันต์จะต้องตระเวนชิมอาหารด้วยตนเองแล้ว ยังมีกรรมการท่านอื่นที่มาช่วยลงคะแนนให้ร้านอาหารเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเพจรีวิวร้านอาหาร ได้แก่ ITAN – แทนไร้เทียมทาน, เพจเจริญพุงพเนจร, ป๋าปึกส์ รีวิวอาหารเชียงใหม่ , วิสุทธิ์ สันติกุล เจ้าของน้ำพริกคุณแม่จู้ และเพจ Eatwithpete – กินกับพีท เป็นต้น แต่ละเพจล้วนมีประสบการณ์ในการรีวิวร้านอาหารมาเป็นพันๆ ร้าน
เสริมช่องทางรีเทลของเชลล์ให้แข็งแกร่ง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้การแข่งขันของตลาดปั๊มน้ำมันก็ดุเดือดมากขึ้น ส่วนใหญ่ลงมาเล่นในเกมของพื้นที่ค้าปลีกกันทั้งสิ้น เพราะสามารถสร้างกำไรได้ดีกว่า และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวน
เชลล์เองก็ได้มีการบุกตลาดค้าปลีกมาสักพักใหญ่ มีการสร้างแบรนด์ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจับมือกับพันธมิตรในการเปิดร้านอาหารภายในปั๊มมากขึ้นเช่นกัน
การที่นำเชลล์ชวนชิมมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แน่นอนว่าในอนาคตอาจจะมีร้านอาหารที่ได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมมาเปิดภายในปั๊มน้ำมัน มองว่าจะสามารถเป็นแม็คเน็ต เป็นตัวชูโรงที่สำคัญได้ โดยที่มีการคาดการว่าจะเริ่มต้น 10 ร้านภายในปีนี้
ประเดิมตราเชลล์ชวนชิมให้กับ 10 ร้านแรกของยุคนี้
- ร้านลุงเลียง-ป้ามาลี ร้านอาหารพื้นบ้านซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี
- ร้านเจ๊โอว ร้านข้าวต้มเก่าแก่ชื่อดังย่านบรรทัดทอง
- ร้านบ้านนวล ร้านอาหารไทยพื้นบ้านรสชาติ
- ร้านเรือนไทยกุ้งเผา ร้านอาหารทะเลประจำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ร้านข้าวเหนียวมะม่วง ป้าเล็กป้าใหญ่ ร้านข้าวเหนียวมะม่วงที่โด่งดังมีจำหน่ายตามฤดูกาล หรือปีละ 4 เดือนเท่านั้น
- ร้านแดงแหนมเนือง ร้านอาหารเวียดนามอันเลืองชื่อจังหวัดหนองคาย
- ร้านฮอนโมโน (Honmono) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่คัดสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดี
- ร้านโคคอตฟาร์มโรสต์แอนด์ไวน์เนอรี่ (Cocotte Farm Roast & Winery) สเต๊กเฮาส์ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ในโครงการ 39 บูเลอวาร์ด
- ร้านโทบี้ส์ (Toby’s) ร้านอาหารออสซี่สุดฮิตในซอยสุขุมวิท 38
- ร้านลิมอนเชลโล (Pizzeria Limoncello) ร้านพิซซ่าอิตาเลียนขึ้นชื่อติดอันดับย่านสุขุมวิท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา