เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์หันมาจับมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถขายหุ้น IPO และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้แล้ว
ชื่อบริษัท Sea อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก แต่เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักแบรนด์ลูกของ Sea กันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Digital Entertainment อย่าง Garena, E-commerce อย่าง Shopee และ Digital Financial Services อย่าง AirPay
สิ่งที่น่าสนใจคือ SCB มองเห็นอะไร จึงต้องมาจับมือเป็นพันธมิตรกับ Sea
SCB เลือกจับมือ Sea เพราะมีบริการดิจิทัลเข้าถึงลูกค้าวัยรุ่นในไทย
ปิติพร พนาภัทร์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า เมื่อธนาคารมีวิสัยทัศน์ว่าจะทำธนาคารให้เป็นแพลตฟอร์ม ก็คงไม่สามารถเดินหน้าไปด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะโลกมีหลายธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดลูกค้าได้มากกว่าเดิม ธนาคารก็ต้องเข้าให้ถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับพันธมิตรเหล่านี้ ซึ่งวิธีการมีทั้งการจับมือเป็นพันธมิตร การเข้าไปลงทุน หรือการตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาเป็นเวลาปีกว่าแล้ว
ครั้งนี้ทางไทยพาณิชย์ เลือกจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ Sea (ประเทศไทย) เครือข่ายของสตาร์ทอัพใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้ธนาคารเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละวันได้มากข้น
“Sea มีบริการหลายอย่างที่เชื่อมกับไลฟ์สไตล์ของคนอายุ 20-30 ปี ครอบคลุมตั้งแต่วัยรุ่น ไปจนถึงกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน (first jobber) เพราะมีทั้ง Garena ที่ทำเรื่องเกม มี Shopee ที่ทำอีคอมเมิร์ซ และมี AirPay ที่ทำเรื่องระบบการชำระเงิน เราต้องมาดูว่าจะเชื่อมบริการทั้งหมดให้ไร้รอยต่อกับชีวิตลูกค้าอย่างไรบ้าง?”
เริ่มจากเชื่อมแพลตฟอร์มของ 2 องค์กร เพื่อผลักดันบริการชำระเงิน (Payment) เป็นอันดับแรก
ปิติพร เล่าว่าสิ่งที่เริ่มทำได้ก่อนเลยคือฝั่งของการจ่ายเงิน (payment) เพราะต่างฝ่ายต่างมีบริการนี้อยู่แล้ว โดยธนาคารไทยพาณิชย์จะเชื่อมต่อระบบกับแอปพลิเคชัน AirPay ทั้งการเติมเงิน และจ่ายบิล ผ่านระบบ SCB EASY
นอกจากนี้ SCB ยังมองการทำ digital lending หรือการขอสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล ที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ลองปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต และได้รับการตอบรับที่ดี ขั้นต่อไป SCB จะขยายบริการ digital lending ไปยังแพลตฟอร์มพันธมิตรอื่นๆ โดยยังใช้ระบบประเมินความเสี่ยง (risk scoring) ของธนาคารเหมือนเดิม
“พาร์ทเนอร์ทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในอีกหลายมิติ พาร์ทเนอร์แต่ละเจ้ามีความเก่งแตกต่างกันไป อย่าง Sea ช่วยเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น”
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) บอกว่า คาดว่าปลายปี 2019 นี้จะได้เห็นฟีเจอร์การจ่ายบิล (Bill Payment) ที่เชื่อมโยงบริการของไทยพาณิชย์มาอยู่บนแอป AirPay เป็นความร่วมมือแรก
ถึงยุคสตาร์ตอัพจับมือธนาคาร ขยายเครือข่ายเข้าถึงลูกค้าวงกว้าง
มณีรัตน์ บอกว่า Sea เริ่มทำธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 เป้าหมายหลักคือการสร้างบริการด้านดิจิทัลที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่คนเมือง แต่ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงแพลตฟอร์มให้ได้
“เมื่อ Banking อยู่ในชีวิตของลูกค้า ไทยพาณิชย์ที่ทำธุรกิจธนาคารมายาวนาน มีความน่าเชื่อถือและความเชี่ยวชาญระบบการเงิน ธุรกิจแบงก์ เช่น โซลูชั่น เครดิตที่สามารถเสริมให้บริการระหว่างกันดีขึ้น นอกจากนี้ไทยพาณิชย์ยังมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่จะสร้างบริการเชื่อมโยงกันให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวกไม่ติดขัด”
ปิติพร บอกว่า จุดแข็งของไทยพาณิชย์คือการมีพาร์ทเนอร์หลากหลาย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น โรงพยาบาล โลจิสติกส์ มหาวิทยาลัย ธุรกิจ SME บริษัทเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับบริการของ Sea สร้างบริการที่หลากหลายและตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น
มณีรัตน์ มองว่า เทรนด์การใช้งานมือถือเป็นอุปกรณ์หลักในชีวิตประจำวันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางบริษัทจึงต้องสร้าง engagement กับลูกค้าเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง อย่าง Shopee ต้องให้มากกว่าการเข้ามาซื้อของ แต่สนุกในการใช้บริการด้วย เช่น การเล่นเกมสะสม Coin หรือ E-sport ที่ไม่ได้มีลูกค้าเป็นผู้เล่นอย่างเดียว แต่มีกลุ่มผู้เข้าชมจากหลากหลายช่วงอายุ ทำให้ Sea เห็นความต้องการของลูกค้าในหลายมิติ
สุดท้ายแล้วธุรกิจในยุคดิจิทัลจะทำทุกอย่างเองไม่ได้แล้ว ต้องหาทางเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น การจับมือกับพาร์ทเนอร์กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะเรียนรู้ลูกค้าหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา