เปิดนโยบายความยั่งยืน Tesco Lotus ต้องดูแลทั้งพนักงาน-สินค้า-ชุมชน

Tesco Lotus ประกาศนโยบายความยั่งยืนระดับโกลบอล The Little Helps Plan เป็นค้าปลีกในไทยที่ต้องดูแลคุณภาพทั้งพนักงาน สินค้า และชุมชน

Photo : Shutterstock

ผลักดันจากนโยบายสู่วัฒนธรรมองค์กร

ในโลกธุรกิจทุกวันนี้หลายองค์กรไม่ได้ทำธุรกิจเพียงแค่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ หรือผลกำไรทางธุรกิจอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องมองไกลไปถึง Sustainability หรือความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะไม่ใช่การทำโครงการ CSR บริจาคเงิน แบบในอดีต แต่หลายองค์กรลงลึกไปถึงระดับนโยบายที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กร

Tesco Lotus ได้ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน The Little Helps Plan เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) เป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคชาวไทยให้สามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูง มาจากแหล่งที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ รวมทั้งใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ซึ่งนโยบาย The Little Helps Plan เป็นนโยบายระดับโกลบอลของกลุ่ม Tesco ทั่วโลกได้ปฏิบัติใช้ร่วมกัน เริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2561 เพียงแต่ในแต่ละประเทศได้มีการปรับใช้ให้เข้ากับตลาดของตนเอง ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้

ในประเทศไทยเองก็ถือโอกาสเปิดตัวนโยบายนี้พร้อมกับการฉลองการทำธุรกิจของ Tesco Lotus ในประเทศไทยได้ 25 ปี เป็นการวางนโยบาย เพื่อหวังเป็นวัฒนธรรมองค์กร

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส บอกว่า

“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา Tesco Lotus ได้เติบโตเคียงคู่กับสังคมไทย พร้อมกับการให้ความสำคัญในการสร้างประโยชน์และใส่ใจดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพนักงาน ลูกค้า ชุมชน คู่ค้า และสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของพวกเรา แต่ด้วยปัญหาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับ Tesco Lotus ในฐานะธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทของในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี จึงเป็นที่มาของการยกระดับการทำงานในด้านความยั่งยืน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ระดับนโยบาย ที่ถูกผนวกเข้ากับแผนการดำเนินงานทางธุรกิจและไม่สามารถแยกออกจากกันได้”

ดูแล 3 เสา พนักงาน สินค้า และชุมชน

สมพงษ์เสริมว่า นโยบายความยั่งยืน The Little Helps Plan จะมีการปรับในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และการทำธุรกิจ ในประเทศไทยได้เน้นที่ 3 เสาหลัก ได้แก่ คนที่เป็นพนักงานของ Tesco Lotus, สินค้า ต้องมีคุณภาพ รวมถึงแพ็คเกจจิ้งต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ทั้ง 3 อย่างนี้จะเป็นส่วนประกอบสร้างความยั่งยืนให้กับ Tesco Lotus

Photo : Shutterstock

คน : ต้องเสริมทักษะ และเพิ่มความยืดหยุ่น

เรื่องคน หรือการบริหารทรัพยากรบุคคลกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญ เพราะคนนี่แหละเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กรได้ ซึ่งก็ต้องมีการส่งเสริม และพัฒนาอย่างเหมาะสม อีกทั้งต้องมีการซื้อใจเพื่อให้อยุ่กับองค์กรไปนานๆ อีกด้วย

นโยบายความยั่งยืนด้านคนของ Tesco Lotus ให้ความสำคัญกับการดูแลเพื่อนพนักงาน ปัจจุบันมีการจ้างงานพนักงานเกือบ 50,000 ตำแหน่ง โดยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้พนักงานได้มีความก้าวหน้า อาจจะเป็นความก้าวหน้าทางอาชีพ การพัฒนาทักษะ และศักยภาพของพนักงานที่นอกเหนือจากค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ

ปัจจุบันพนักงานในสาขา 80-90% ล้วนเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากพนักงานประจำแล้ว ยังมีนโยบายจ้างงานพื่อสนับสนุนโครงสร้างสังคมไทย อาทิ การจ้างงานผู้เกษียณอายุในโครงการ 60 ยังแจ๋วที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เข้าทำงานได้ ปัจจุบันมีวัยเก๋าเข้าทำงานร่วม 800 คนแล้ว และมีการจ้างงานนักเรียนนักศึกษาทำงานเพื่อหารายได้เสริมด้วย

และได้มีเพิ่มนโยบายเรื่องความยืดหยุ่นอย่างการดีไซน์ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน โดยให้แต่ละคนเลือกว่าอยากแต่งแบบไหน ส่วนสาขา Tesco Lotus Express มีให้แต่งกายให้เหมาะกับชุมชนทุกๆ วันศุกร์

สินค้า : เพื่อสุขภาพ และแพ็คเกจจิ้งดีต่อสิ่งแวดล้อม

Tesco Lotus มองว่าบทบาทของค้าปลีกมีมากกว่าการจัดหาสินค้ามาและขายไป ลูกค้าจะต้องสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูง มาจากแหล่งที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ จึงให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable sourcing) ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นอกจากจะต้องมีคุณภาพสูง ทำจากวัตถุดิบที่ดี มีรสชาติอร่อย มีราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว จะต้องดีต่อสุขภาพ ในส่วนของนโยบายด้านสินค้ามีการเน้นที่ 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

  1. แหล่งที่มาของอาหารต้องเป็นแหล่งที่ยั่งยืนตรวจสอบย้อนหลังได้ มีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ เคารพสิทธิมนุษยชน มีสวัสดิภาพสัตว์ มีเป้าหมายว่าไม่ขายไข่ไก่ที่มาจากไก่ขังกรงภายในปี 2571 ส่วนเนื้อหมูไม่มาจากหมูยืนซอง และไม่ขายกาแฟที่มาจากการปลูกในพื้นที่ทำลายป่า
  2. ตัวสินค้าต้องเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น ลดไขมัน ลดน้ำตาลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  3. เรื่องแพ็คเกจจิ้ง ได้มีกี่ทำระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ ทำให้เกิดการรียูส และรีไซเคิลของแพ็คเกจจิ้งได้ มีการยกเลิกการใช้ถาดโฟม มาใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ 100%
  4. แก้ปัญหาเรื่องความสูญเสียของอาหาร เพราะทุกวันนี้อาหารเกินกว่าครึ่งได้หายไปในห่วงโซ่อุปทาน กลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว เบื้องต้นจะมีนโยบายในการนำสินค้าที่จะต้องนำไปทิ้งมาแปลงเป็นอาหารให้พนักงาน หรือไปบริจาค ส่วนในอนาคตจะต้องเพิ่มความเข้มข้นไปถึงการแก้ปัญหาที่ระดับต้นน้ำ

ชุมชน : มอบอาหารให้ผู้ด้อยโอกาส

ในด้านชุมชนได้มีการเน้นการมอบอาหารคุณภาพให้ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้ง “โครงการอาหารดีพี่ให้น้อง” ที่มอบอาหารกลางวันเปี่ยมโภชนาการให้เด็กนักเรียน 77 โรงเรียน ใน 77 จังหวัด และบริจาคอาหารที่ยังทานได้แต่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

ในด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องปัญหาขยะเป็นปัญหาที่เร่งด่วน ที่ได้มุ่งลดขยะพลาสติก และเป็นผู้นำด้านการลดขยะอาหาร โดยเป็นค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก มาตั้งแต่ปี 2553 และได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกมาโดยตลอด เช่น งดใช้ถุงพลาสติกเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในร้านค้าขนาดเล็กทั้ง 1,800 แห่งทั่วประเทศ และภายในสิ้นปี  2562 จะเลิกใช้หลอดพลาสติกทั้งหมด และได้เลิกใช้ถาดโฟมทั้งหมดในธุรกิจตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นเรื่อง “ถุงพลาสติก” ที่ทางสมพงษ์ได้ยืนยันชัดเจนว่า Tesco Lotus ยังเน้นในเรื่องการให้รีวอร์ด หรือการที่ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก จะมีการให้แต้มคลับการ์ดเป็นรางวัล ยังไม่มีมาตรการที่เก็บเงินค่าถุงพลาสติก เพราะไม่อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าการใช้ถุงพลาสติกแล้วเป็นผู้ร้าย และลูกค้าบางรายยังใช้ถุงพลาสิตกเป็นถุงขยะต่ออีกที ต้องดูว่าการงดให้ถุงพลาสติกไปเลยจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับลูกค้าหรือไม่

อีกทั้งมาตรการดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทส ล้วนเป็นการผลักดันจากภาครัฐที่ออกกฎหมายการงดใช้ถุงพลาสติก ถ้าในประเทศไทยมีนโยบายนั้นก็ยินดีสนับสนุนแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา