เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโตน้อยลงถือว่าโตต่ำกว่าความสามารถของประเทศ ไหนคนไทยจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากราคาของกินของใช้ที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเหนียวแพงเพราะภัยแล้ง ฯลฯ ล่าสุดรัฐบาลเลยเตรียมเสนอลดค่าครองชีพคนไทย ผ่านการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า
กรมการขนส่งทางรางเตรียมเสนอ “ลด” ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเริ่มต.ค. 62 นี้
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) บอกว่า เตรียมเสนอมาตรการลดค่าครองชีพผ่านการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง ในวันที่ 6 ก.ย. 2562 นี้ซึ่งจะหารือร่วมกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้จะเสนอมาตรการ 2 แบบได้แก่ 1. มาตรการจูงใจให้คนมาใช้รถไฟฟ้า เมื่อผู้โดยสารซื้อตั๋วรถไฟฟ้า (ได้ทุกระบบ) ครบ 15,000 บาท สามารนำมาลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ 2. ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแบบรายเดือน และช่วงเวลา Off-Peak หรือนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น 05.30-07.00 น., 20.00-24.00 น. ฯลฯ (ขึ้นอยู่กับรถไฟฟ้าแต่ละระบบ กำลังศึกษาว่าจะใช้ช่วงเวลาไหน)
อย่างไรก็ตามมาตรการที่เสนอจะมีรถไฟฟ้าในไทย 4 ระบบซึ่งจะลดราคาฯ ต่างกัน เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะลดราคาทั้งตั๋วรายเดือนและช่วงเวลา Off-peak แต่รถไฟฟ้าบีทีเอส อาจจะลดราคาตั๋วรายเดือนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า บีทีเอสมีคนเดินทางทุกช่วงเวลาทั้งนี้หากมาตรการผ่านการอนุมัติจากครม. คาดว่าจะทดลองใช้ 3 เดือน เริ่มต.ค.-ธ.ค. 2562
“แอร์พอร์ตเรลลิงก์”พร้อมเริ่มลดราคา 40% ฝั่งขร.ชี้ต้องดึงเงินภาษีป้ายวงกลมชดเชยส่วนต่าง
สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ บอกว่า เมื่อขร. เตรียมออกมาตรการลดค่าครองชีพผ่านการลดค่าโดยสารช่วงเวลา Off-peak ทางแอร์พอร์ตลิงก์สามารทำได้ทันทีในเดือน ต.ค. โดยจะลดลงจากช่วงเวลาปกติที่อยู่ 15-45 บาท/คน/เที่ยว หากเป็นช่วง off-Peak จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาท/คน/เที่ยว (จากการคำนวณราคาสูงสุดจะลดลงราว 44%) คาดว่าจะมีผู้โดยสารในช่วงเวลา Off-peak เพิ่มขึ้น 10%
แต่จะใช้ได้เฉพาะผู้โดยสารที่ใช้ “บัตรโดยสาร” เท่านั้น ไม่รวมการใช้เหรียญหรือการหยอดเหรียญซื้อบัตรโดยสาร รวมถึงไม่ลดราคาเพิ่มเติมให้บัตรผู้สูงอายุและบัตรนักศึกษาที่ได้โปรโมชั่นส่วนลดอยู่แล้ว
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ยังบอกว่า รถไฟฟ้าทั้ง 4 ระบบรับหลักการไปพิจารณาแล้ว ซึ่งฝั่งรถไฟฟ้าเอกชน (เช่น BTS BEM) ต้องดูเรื่องผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่อาจจะหายไป แต่ก็มีแนวคิดในการขอรายได้จากภาษีป้ายวงกลมรถยนต์ประจำปีจากกรมขนส่งทางบกที่จัดเก็บและส่งให้กทม. ซึ่งปีล่าสุดเก็บได้ 14,000 ล้านบาท เช่น อาจจะขอ 2,000 ล้านบาท/ปีมาชดเชยส่วนต่างตั๋วที่ลดราคา เพราะเป็นรายได้ที่เก็บจากคนในกรุงเทพฯ และไม่กระทบต่องบประมาณรัฐ
ที่มา TNN, Posttoday, ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา