AIS (เอไอเอส) แต่งตั้ง ปรัธนา ลีลพนัง เป็น หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด หรือ CMO อย่างเป็นทางการกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา รับผิดชอบหัวหน้างานด้านการตลาดเต็มรูปแบบ แต่ความพิเศษคือ ไม่ได้ดูแลเฉพาะบริการโทรศัพท์มือถือเหมือนในอดีต แต่เป็นการดูแลด้าน Digital Service Provider เรียกได้ว่า ต้องจัดเต็มมากกว่าที่เคย เป็นทั้งความท้าทายส่วนตัวและเป้าหมายขององค์กรที่ต้องยอมรับว่า ไม่ง่าย
คำถามคือ ปรัธนาจะทำงานอย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วงจากคู่แข่งในตลาดคือ dtac และ True พร้อมกับการขยายธุรกิจของ AIS ไปพร้อมกัน
ทำงานกับ AIS ไม่ใช่ Hero แต่เป็นเรื่องของ Team Work
ปรัธนา บอกว่า การได้รับแต่งตั้งเป็น CMO อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องโดดเด่นอะไรมากนัก ส่วนตัวยังคงทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม เพราะการทำงานที่ AIS ไม่ได้มีใครเป็น Hero เพียงคนเดียว ที่จะสามารถตอบความต้องการของลูกค้าหลายสิบล้านคนได้ แต่ AIS ทำงานเป็น Team Work ร่วมกันอย่างแข็งแกร่งมากกว่า
ดังนั้น หน้าที่ของ CMO จึงเป็นการสร้างสรรค์บริการที่พัฒนาขึ้นมาโดย Team Work ของ AIS ทุกคน เพื่อให้สามารถตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด มีคุณภาพที่สุด และแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น สาระสำคัญคือ มีคุณภาพและแตกต่าง ซึ่งเกิดขึ้นจาก Team Work ทุกคนร่วมมือกัน
“การทำงาน CMO ยังคงเหมือนเดิม แม้จะขยายธุรกิจใหม่ๆ ให้ครอบคลุมความเป็น Digital Service Provider ไม่ได้มีบริการโทรศัพท์มือถืออย่างเดิม แต่สาระสำคัญของงานยังคงเดิม เพียงแต่ส่งต่อบริการจากทุกส่วนที่ Team ของ AIS สร้างขึ้นไปให้ถึงมือลูกค้า สุดท้ายแล้ว องค์กร ต้องก้าวหน้า และประชาชนต้องได้ประโยชน์”
มองการแข่งขันขยับจากราคา สู่คุณภาพบริการ
สำหรับมุมมองด้านการแข่งขันในปี 2559 ที่ต้องยอมรับว่ารุนแรงมาก เนื่องจากต้นปีถึงกลางปีมีความวุ่นวายเรื่องคลื่นความถี่ และการรุกบริการระหว่างประเทศเกิดขึ้น ทำให้เกิดการแจกเครื่องฟรีเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ย้ายค่าย จากนั้นตั้งแต่กลางปีมาถึงปลายปี ก็เริ่มการแข่งขันราคา ลดค่าเครื่อง แลกกับสัญญาการใช้บริการ นี่คือภาพการแข่งขันในปีนี้
ด้าน AIS ต้องยอมรับว่าปีนี้ เป็นฝ่ายตั้งรับพอสมควร จนกระทั่งได้คลื่นความถี่ 900MHz ทำให้สามารถปิดจุดอ่อนเรื่องคลื่นความถี่ได้ในช่วงกลางปี และอยู่ระหว่างแผนการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมมากที่สุด โดยภายในสิ้นปีนี้ AIS จะสามารถให้บริการ 4G และ 3G ได้ครอบคลุม 98% ของประชากรทั่วประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีช่องว่างเรื่องการให้บริการอีกต่อไป
ถ้ามองในอดีตจะรู้ว่า AIS เริ่มต้น 3G และ 4G ช้ากว่าผู้ให้บริการรายอื่น 1-2 ปี แต่ตอนนี้ AIS ไม่มีข้อจำกัดนี้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าในปี 2560 การแข่งขันจะอยู่บนเรื่องของคุณภาพการให้บริการ ซึ่งยังต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ เช่น AIS Fibre ที่มีลูกค้ากว่า 3 แสนราย และจะให้บริการได้ครอบคลุมกรุงเทพฯ ในสิ้นปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีบริการ mPay และ Cloud Service อีกด้วย
ขยายบริการโรมมิ่งด้วย SIM2Fly
แนวทางของ AIS ที่ชัดเจนคือ การสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับพันธมิตร AIS จะไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด แต่จะเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีความชำนาญในด้านนั้นๆ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ในการให้บริการโรมมิ่งในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน
ปรัธนา บอกว่า การโรมมิ่ง มีปัจจัยสำคัญคือ โครงข่ายของพันธมิตรที่ต้องครอบคลุมซึ่ง AIS ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้บริการมือถือที่มีพันธมิตรโครงข่าย 4G ใหญ่ที่สุดในเอเชีย พร้อมกับการเปิดบริการ Sim2Fly ก่อนหน้านี้ จุดเด่นคือ ราคาต่ำกว่าซื้อซิมใช้งานในต่างประเทศ และยังไม่มีคู่แข่งในไทยพัฒนาบริการมาแข่งขัน
ข้อดีของ SIM2Fly คือ เมื่อเดินทางมาต่างประเทศ สามารถเปิดใช้ซิมใหม่ได้ทันที เป็นซิมสำหรับเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นหลักโดยเฉพาะ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนของบริการ Voice) เป็นการแก้ปัญหาผู้ใช้งาน เวลาเดินทางไปต่างประเทศแล้วไม่กล้าใช้บริการโรมมิ่ง หลังจากออก SIM2Fly ทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น
โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทยกว่า 7 ล้านราย และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศกว่า 2 ล้านรายต่อปี คือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หลักการคือ การใช้งานโรมมิ่งต้องง่ายและราคานถูกซื้อซิมในต่างประเทศใช้ ซึ่ง SIM2Fly จะมีลักษณะเป็นซิมใหม่แบบพรีเพด (เติมเงิน) ราคา 199, 399 หรือ 899 ขึ้นอยู่กับโซนประเทศที่ไป โดยใช้ความเร็วได้ไม่จำกัด สูงสุด 3GB (จากนั้นใช้ได้ที่ความเร็ว 128kbps) ภายในเวลาที่กำหน (8 หรือ 15วัน)
ดังนั้น สำหรับคนเดินทางมาต่างประเทศ ก็สามารถใช้งาน Data Roaming ได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะมี Shock Bill เจอค่าบริการโหด (เพราะเป็นซิมพรีเพด) และหากใช้งานหมด 3GB หรือหมดวัน จะมี SMS แจ้งหากต้องการขยายแพ็คเกจ
สรุป
ปรัธนา ลีลพนัง ถือเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของ AIS ที่น่าจับตามอง และการขยับขึ้นมาทำหน้าที่ CMO ยิ่งทำให้น่าสนใจว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับ AIS ในยุค Transformation สู่การเป็น Digital Service Provider ท่ามกลางการแข่งขันบนบริการโทรศัพท์มือถือเดิม ซึ่งยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี กับการก้าวเข้ามาในธุรกิจใหม่ ที่เป็นความท้าทายของ AIS อยู่ไม่น้อย
สิ่งที่น่าสนใจซึ่ง ปรัธนา ได้เสนอไว้คือ AIS มีความชัดเจน ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Service Provider ที่พร้อมเติบโตไปกับพันธมิตร แต่คู่แข่งอีก 2 ราย คือ dtac ที่คาดว่าอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนองค์กรภายใน และ True ที่กำลังเร่งสร้างขยายฐานลูกค้า ถือเป็นภาพที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมทั้ง 3 รายในปี 2560
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา