บทสัมภาษณ์ถึงความเป็นมาของ UD Town ศูนย์การค้าโลคอลแห่งใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี มีแนวคิดอย่างไรให้ได้ใจคนพื้นที่ และก้าวต่อไปกับการแข่งขันในวงการค้าปลีก
จากผู้เช่าพื้นที่ในห้าง มาเป็นผู้สร้างห้างให้คนอื่นเช่า
ต้องบอกว่าวงการค้าปลีกในเมืองไทย ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้เล่นรายใหญ่อย่างที่คุ้นเคยกันดีอย่างกลุ่มเซ็นทรัล หรือกลุ่มเดอะมอลล์ ที่มีการขยายสาขาไปทั่วประเทศไทย แต่ยังมีค้าปลีกที่เป็นผู้เล่นโลคอลในจังหวัดนั้นๆ เอง ที่สำคัญห้างโลคอลยังสามารถเอาชนะค้าปลีกรายใหญ่ได้ด้วยซ้ำ
ถ้าใครที่เป็นคนอุดรธานี หรือใครที่เคยไปเยือนอุดรธานีก็คงจะคุ้นเคยกับศูนย์การค้า UD Town กันอยู่บ้าง เพราะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่ใครๆ ต้องไปเยือน และยังเป็นจุดแฮงค์เอาท์ของวัยรุ่นชาวอุดรอีกด้วยซ้ำ
UD Town ได้ก่อตั้งมา 10 ปีแล้ว บริหารงานโดยบริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ที่มี UD Town เพียงแค่แห่งเดียวคือที่จังหวัดอุดรานี ซึ่งในอนาคตจะไม่หยุดเพียงแค่ศูนย์การค้า แต่จะสร้างเป็น “เมือง” ที่รวมศูนย์ประชุม โรงแรม อาคารมิกซ์-ยูสไว้ด้วยกัน รองรับภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต
แน่นอนว่าคนที่ฉายภาพของ UD Town ได้ดีที่สุดคงจะเป็นผู้บุกเบิก ทาง Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ธนกร วีรชาติยานุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด จะมาเล่าที่มาที่ไปของ UD Town ให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ธนกรเป็นคนอุดรมาตั้งแต่กำเนิด แต่เดิมทำธุรกิจสื่อสารมาก่อน เป็นตัวแทนของ dtac ทำให้อยู่ในฐานะเป็นผู้เช่าในศูนย์การค้ามาตลอด แต่แล้วก็มีโอกาสได้เดินทางต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ได้เห็นรูปแบบการจัดการศูนย์การค้าของหลายแห่ง มองว่าจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ให้เช่าได้อย่างไร? จึงอยากพัฒนาศูนย์การค้าที่เป็นจุดเด่นของอุดร
จริงๆ แล้วธนกรได้เห็นศูนย์การค้าหลากหลายรูปแบบ คอนเซ็ปต์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของ UD Town ก็คือ Eco ประหยัดพลังงาน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยที่ธนกรบอกว่าได้เห็น “โกเท็มบะ เอาท์เล็ต” ในประเทศญี่ปุ่น มองเห็นว่าโมเดลเอาท์เล็ตมีต้นทุนการจัดการไม่สูงเท่าห้างปิด เพราะไม่ต้องเปิดแอร์ทั้งวัน ถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย เพราะศูนย์การค้าส่วนใหญ่จะเป็นแบบปิด เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน
“โจทย์ใหญ่มาจากการบริหารแบบอีโคคอนเซ็ปต์ ถ้าไปทำห้างปิดซึ่งมีต้นทุนเราสู้ไม่ได้แน่นอน ประสบการณ์ก็ไม่เท่าห้างใหญ่ ไปคาดหวังรายได้ที่เป็นค่าเช่าต่อตารางเมตรไม่ได้ พอเป็นหน้าใหม่ในตลาด วิธีเข้าไปต้องมีจุดแข็ง ทำเลดี คอนเซ็ปต์ดี ราคาโดน 10 ปีที่ผ่านมาก็เป็นไปอย่างที่วางไว้ บางทียอดขายเท่ากัน แต่ได้กำไรเยอะกว่าห้างใหญ่อีก”
ธนกรเสริมอีกว่า UD Town เป็นพื้นที่เช่าจากสถานีรถไฟ 30 ปี มีพื้นที่รวม 36 ไร่ เป็นที่ดินใหญ่ใจกลางเมือง ตอนนั้นก็เกิดไล่กับเซ็นทรัล จึงเป็นจุดสำคัญที่ต้องคิดเยอะ เพราะเมื่อยักษ์ใหญ่มาเยือน แต่เราเล็กกว่ามาก จะอยู่ด้วยวิธีไหน จะเดินแบบศูนย์การค้าทั่วไปแล้วตายก่อน หรือเดินแบบเราแล้วอยู่รอด ซึ่งโชคดีที่คอนเซ็ปต์แบบนี้ได้รับการตอบรับดีจากคนอุดร ทำให้เขามีทางเลือก ช้อปห้างใหญ่ก็ได้ หรือจะมาเดินที่นี่ก็ได้
จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ UD Town คืออยู่ในจุดทำเลที่ดีที่สุดใจกลางเมืองอุดรธานี เป็นย่าน CBD อยู่ย่านสถานีรถไฟอุดร มีถนนรอบ 4 ด้าน ถนนหลัก โพธิ์ศรี ประจักต์ และทองใหญ่ บริเวณหลังสถานีรถไฟเป็นชัยภูมิดีที่สุด มีพื้นที่ใหญ่ และมีทราฟิกมหาศาล
พลังโลคอล รู้ใจคนในพื้นที่ของจริง
คอนเซ็ปต์ต่อมาคือมองว่าต้องทำให้ UD Town เป็นจุดศูนย์รวมของคนอุดร รูปแบบค้าปลีกของ UD Town จึงเป็นศูนย์การค้าแบบเปิดเหมือน Community Mall มีร้านค้าต่างๆ เหมือนห้างใหญ่ๆ ที่เรียกว่าพลาซ่า แต่ก็มีพื้นที่เป็นเหมือนตลาดนัดที่เรียกว่าบาซ่า หรือ Night Bazaar นั่นเอง
“ต่อมาก็คิดว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เป็น Meeting Place ที่ดี มองกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยทำงาน ครอบครัว วัยรุ่นที่ต้องการมาแต่งตัวเท่ๆ พบปะพูดคุย ถ่ายรูปเล่น ซึ่งเทรนด์นี้เกิดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้เห็นกรณีสยามสแควร์มีมา 30 กว่าปี แต่ก็มีห้างใหญ่ๆ เกิดขึ้นรอบๆ มาบุญครอง สยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ หรือพารากอน แต่สยามก็ไม่ตาย เพราะมี Identity จุดเด่นจอดรถง่าย เข้าถึงห้างง่าย สิ่งที่ UD Town ทำก็ไม่ต่างจากสยาม แต่เพิ่ม Green Space ใส่ Land Scrape สวยๆ ให้เข้ากับท้องถิ่น เพิ่มปอดของเมืองเข้าไป พอไป UD Town คนรู้สึกผ่อนคลาย”
จริงๆ จุดเด่นสำคัญของ UD Town คือความที่ธนกรเป็นคนอุดรจริงๆ เป็นคนท้องถิ่น ทำให้เข้าใจพฤติกรรมคนพื้นที่นั้นจริงๆ รู้ว่ามีความต้องการอะไร และผิดพลาดก็ปรับตัวได้เร็ว และด้วยความที่อยู่ในแวดวงการสื่อสาร ก็มีใช้แคมเปญ การสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ ฟรีแมกกาซีนเพื่อสื่อสารกับคนอุดรอย่างเต็มที่
อีกทั้งยังเอาใจสาวก Night Life เป็นห้างที่ปิดเที่ยงคืน กลายเป็นข้อแตกต่างจากห้างใหญ่ คือ UD Town ปิดเที่ยงคืน
ธนกรบอกว่าเมืองอุดรเป็นเมืองคึกคัก ไม่ค่อยหลับไหล ไลฟ์สไตล์คนอุดรจะชอบออกมาแฮงเอาท์ตอนกลางคืน UD Town จึงเข้าใจพฤติกรรม และสร้างความแตกต่างด้วยการมีโซน UD Bazaar เป็นเหมือนตลาดนัดที่เปิดถึงเที่ยงคืน
“ตั้งแต่ยุคหลังสงครามทำให้อุดรเป็นเมืองรับแขก ชาวบ้านชอบทานอาหารนอกบ้าน มีร้านสตรีทฟู้ด อาหารจีนเก่าแก่ก็ยังอยู่ มีส่วนผสมระหว่างคนท้องถิ่น และต่างชาติเยอะ ซึ่งคนต่างชาติทำให้เมืองคึกคัก มีไนท์ไลฟ์ เอนเตอร์เทน อยู่กับความสนุก เป็นเมืองไม่เคยหลับ เลยเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน”
ศักยภาพของอุดร GPP ติดท็อปแดนอีสาน
เมื่อมาดูถึงศักยภาพของจังหวัดอุดรานีกันบ้าง ถ้าในแง่ของจุดยุทธศาสตร์อุดรธานีตั้งอยู่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่าเป็นศูนย์กลางของโซนนี้ และศูนย์กลางพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในภาคอีสาน รองจากนครราชสีมา อุบลราชานี และชัยภูมิ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอุดรธานี (Gross Provincial Product : GPP) ในปี 2560 อยู่ที่ 139,116 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (GPP per Capita) อยู่ที่ 110,410 บาท/คน/ปี เติบโต 3% (ข้อมูล : สำนักคลังจังหวัดอุดรธานี) เรียกว่าเป็นจังหวัดศักยภาพจัดอยู่ใน Top 5 ของภาคอีสาน
อุดรเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคม เป็นเซ็นเตอร์ของอีสานบนบนด้วย แยกไปหนองคาย เวียงจันทร์ นครพนม หนองบัวลำภู เกี่ยวพันทั้งเรื่องการค้า คมนาคม รถไฟ รถยนต์ คลังสินค้าของหลายธุรกิจอยู่ที่อุดร ใช้เป็นเทรดดิ้ง ฮับ
ซึ่งอุดรมีโครงการสนับสนุนจากทางภาครัฐมากมายทั้งโครงข่ายคมนาคม สนามบินนานาชาติ รองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากต่างชาติ ปัจจุบันอุดรมีเที่ยวบินขาเข้าขาออกรวม 56 เที่ยวบิน มากสุดในภูมิภาค มากกว่าขอนแก่น อุบลราชานี รองจากเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในอนาคตมีแนวโน้มจะมีบินตรงจากเวียดนาม และตอนใต้ของจีน มีนักท่องเที่ยวจากลาวมาไทยโต 9.4%
อีกจุดสำคัญคือ อุดรเป็นจังหวัดที่มีต่างชาติ 30,000 ครอบครัว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเงินพยุงตลอด มีเงินโอนต่างประเทศ 6,000-8,000 ล้านบาท ส่งออกแรงงานอันดับต้นๆ ของประเทศ ตอนนี้กำลังสนับสนุนการท่องเที่ยว และทำเป็น MICE City รองรับงานแสดงสินค้า แข่งขันกับจังหวัดใหญ่ๆ ได้
ก้าวต่อไปต้องเป็นศูนย์ประชุม-มิกซ์ ยูส
เมื่อศูนย์การค้าประสบความสำเร็จ UD Town ก็มองถึงการขยายธุรกิจอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เป็นศูนย์ประชุมในการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้าต่างๆ และจะมีโรงแรมผุดเป็นเฟสต่อไป
“ต่อไปจะเพิ่มอีกหนึ่งธุรกิจเป็น Convention ต้องการให้คนมาใช้พื้นที่ในการโชว์รถ หรือเปิดตัวสินค้าใหม่ มีห้องประชุมใหญ่จุคน 5,000 คน จะทำให้ UD Town มีองค์ประกอบครบ และดึงงานใหญ่ๆ ไปจัดที่อุดรได้ด้วย แต่ก่อนงานจะกองที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก”
เฟสต่อไปมีความตั้งใจทำเป็นโรงแรม แนว Business Hotel รองรับคนมางานประชุมต่างๆ ระดับ 4-5 ดาว จะปั้นให้ UD Town เป็นโครงการมิกซ์-ยูสให้ได้
ปัจจุบัน UD Town มีทราฟิกคนใช้บริการวันธรรมดา 20,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุด 30,000 คนต่อวัน ถ้าช่วงอีเวนต์สำคัญ อย่างวันสงกรานต์ทราฟิกขึ้นไปถึง 50,000 คนต่อวัน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นทั้งคนอุดร คนในจังหวัดใกล้เคียง และคนสปป.ลาว
ล่าสุด UD Town ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุน Aim Commercial Growth เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยให้มีการเติบโตมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา