ถ้าอินโดนีเซียทำสำเร็จ ประเทศจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
ใช้ประโยชน์จากโบนัสประชากร เร่งพัฒนา “คน” ในประเทศ
Jokowi ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียกล่าวปาฐกถาประจำปี โดยหนึ่งในนั้นคือการพูดแผนการใช้ประโยชน์จากโบนัสประชากรในช่วงระหว่างปี 2020-2024 โดยหากอินโดนีเซียทำสำเร็จ ประชากรในประเทศจะมีคุณภาพเพียงพอสำหรับโลกอนาคต และจะทำให้ประเทศก้าวพ้นปัญหาการติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
- แต่ก่อนอื่น “โบนัสประชากร” คืออะไร?
โบนัสประชากร หรือ Demographic Bonus หมายถึง ประเทศที่มีจำนวนประชากรที่มีผลิตภาพทางสังคม (productive age) โดยอยู่ในช่วงวัย 15-64 ปีมากกว่าประชากรที่ไม่มีผลิตภาพทางสังคม (non-productive age)
ข้อมูลสำมะโนประชากรของอินโดนีเซียในปี 2018 ระบุว่า อินโดนีเซียมีประชากรที่มีอายุ 15-64 ปีจำนวน 179.3 ล้านคน และคิดเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศที่สัดส่วนสูงถึง 67.6% และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรกลุ่มที่มีผลิตภาพทางสังคมจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 70% ของประชากรทั้งประเทศ
จากข้อมูลชัดเจนว่า การที่อินโดนีเซียมีประชากรมีกลุ่มประชากรที่มีผลิตภาพทางสังคมมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีผลิตภาพทางสังคม หมายความว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มี “โบนัสประชากร”
วิสัยทัศย์ของ Jokowi ในเรื่องนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากต้องใช้ประโยชน์จากโบนัสประชากร โดยจะทำการพัฒนา “คน” ในประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมระดับโลก และในท้ายที่สุดประชากรในประเทศที่มีคุณภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
Jokowi บอกว่า ในปัจจุบันอินโดนีเซียถูกท้าทายอย่างหนักจากการเข้ามา disrupt ของเทคโนโลยี รวมถึงการแข่งขันอย่างดุเดือดของเศรษฐกิจในระดับโลก อินโดนีเซียจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะหนักมากขึ้นในภายภาคหน้า และสิ่งนั้นคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศที่มีผลิตภาพให้มีทักษะเพียบพร้อมต่อการทำงานในอนาคต
- “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือสิ่งที่จะทำให้อินโดนีเซียต่อสู้กับชาติอื่นๆ ได้” Jokowi กล่าว
Jokowi ระบุถึงแผนการพัฒนาคนในประเทศว่า จะทำการปฏิรูประบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยจุดเน้นคือต้องทำให้ประชากรมี “ทักษะใหม่ๆ” ที่พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งถ้าไม่เร่งทำ ประเทศจะยากลำบาก เพราะทักษะเดิมๆ ที่มีอยู่จะไร้ประโยชน์ได้ในไม่ช้า
- Jokowi มั่นใจว่า “ถ้าอินโดนีเซียเดินไปด้วยวิสัยทัศน์นี้ เราจะสามารถประสบความสำเร็จและเติบโตแบบก้าวกระโดด แผนนี้จะทำให้เราไปได้ไกลกว่าชาติอื่นๆ”
ทางสองแพร่งของอินโดนีเซีย ถ้าทำไม่สำเร็จ อาจติดกับดักต่อไป
แต่ท่ามกลางแผนพัฒนาคนของผู้นำอินโดนีเซีย ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่หากอินโดนีเซียทำไม่สำเร็จ
- เพราะโบนัสประชากรเป็นได้ทั้ง “โอกาส” และ “วิกฤติ” เพราะหากบริหารจัดการไม่ดี เศรษฐกิจของประเทศอาจไม่ดีไปด้วย
Tony Prasetiantono นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Gadjah Mada มองว่า ความท้าทายของอินโดนีเซียจากโบนัสประชากรถือการที่อินโดนีเซียต้องทำให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโตที่ 5-6% ทุกปี เพราะหากต่ำกว่านี้ เศรษฐกิจอาจย่ำแย่ ที่มากไปกว่านั้นแรงงานของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ทักษะไม่สูงและยังอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการรวมถึงมีผลิตภาพที่ต่ำ ดังนั้นสิ่งที่อินโดนีเซียต้องทำคือเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดี และทำตามแผนการพัฒนาแรงงานทักษะในประเทศให้ดีขึ้นโดยเร็ว
ความท้าทายในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ไว้ที่ 5-6% ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้มีความไม่แน่นอนสูง (uncertainties in the global economy) โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา-จีนที่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าอาจทำให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ถ้าอินโดนีเซียทำสำเร็จ ก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้จริงอย่างที่ Jokowi ผู้นำอินโดนีเซียบอกไว้ ซึ่งแผนการใช้ประโยชน์จากโบนัสประชากรของอินโดนีเซียในช่วงระหว่างปี 2020-2024 จะออกดอกออกผลจริงๆ ก็คือปี 2030-2035 ชัดเจนว่านี่คือแผนการระยะยาวของอินโดนีเซีย
อ่านวิสัยทัศน์ของ Jokowi ผู้นำอินโดนีเซียสมัยที่ 2 ได้ที่ วิสัยทัศน์ผู้นำอินโดนีเซียสมัยที่ 2 “เร่งพัฒนาทักษะไอที เศรษฐกิจต้องดีขึ้นที่ 10 ของโลก”
อ้างอิง – The Jakartar Post 1, 2, Setkab, PwC, Feb
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา