คนใช้ Smartphone พุ่ง 230 นาที/วัน แล้วแบรนด์จะทำอะไรต่อไป ลองฟังความเห็นจาก Neilsen กัน

หลายคนอาจรู้จัก Neilsen ในบทบาทตัวแทนวัด Rating TV ตามบ้าน เพราะเวลาช่องทีวีดิจิทัลอ้างอิงความนิยมก็จะมาจาก Rating ของ Neilsen ตลอด แต่ตอนนี้ผู้ให้บริการวัดผล และเก็บข้อมูลรายนี้ ส่ง Application ในชื่อ On Device Meter เพื่อเช็คพฤติกรรมออนไลน์ผ่าน Smartphone ของผู้บริโภคในแต่ละวัน แต่จะเจออะไรบ้างนั้น ต้องมาติดตามกัน

nielsen

Chat และ VoIP คือบริการหลักที่ถูกใช้งาน

ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า เป็นครั้งที่ 2 ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับการใช้งาน Smartphone ของผู้บริโภคในประเทศไทย ผ่านการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน ช่วงอายุ 15 – 40 ปี ครอบคลุมทั้งชาย และหญิง รวมถึงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย เพื่อติดตั้ง Application ชื่อ On Device Meter ในการเก็บข้อมูลการใช้งานเบื้องต้น เช่นการเข้าใช้ Application หรือการปลดล็อคเครื่อง ดังนั้นผลสำรวจนี้จึงไม่ได้มาจากการซักถาม แต่เป็นข้อมูลจากการใช้งานเพียงอย่างเดียว

ซึ่งในการสำรวจนั้น พบว่าโดยเฉลี่ยผู้บริโภคในไทยใช้เวลากับ Smartphone ราว 230 นาที/วัน หรือเกือบ 4 ชม. และถูกใช้งานเพื่อการสื่อสาร เช่นการ Chat และ โทร (VoIP) ผ่าน Application มากที่สุดถึง 75 นาที/วัน รองลงมาเป็นการเข้าใช้งาน Social Media เช่น Facebook และ Instagram ราว 67 นาที, ใช้งานเกี่ยวกับ Entertainment เช่นรับชมวีดีโอบน YouTube กว่า 45 นาที, ใช้งานเพื่อเข้าเว็บไซต์อีก 24 นาที สุดท้ายคือใช้งานเพื่อปรับแต่งตัวเครื่อง เช่นการปลดล็อค Smartphone กว่า 18 นาที/วัน อีกด้วย

nielsen
ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย

1 – 3 ทุ่มคือเวลาทองถ้าอยาก Engage

ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังใช้งาน Smartphone ทั้งวัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการทำตลาดของแบรนด์ผ่านช่องทางนี้ แต่ถ้าอยาก Engage ผู้บริโภคแบบสุดๆ ต้องช่วงเวลา 1 – 3 ทุ่ม เพราะช่วงนั้นผู้บริโภคจะใช้ Smartphone มากกว่า 13 นาที/ชม. สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการใช้งานงานทั้งวันที่อยู่ราว 10 นาที/ชม. นอกจากนี้เวลา 2 – 5 ทุ่ม ยังเป็นเวลาที่ผู้บริโภคใช้งานดาต้ามากที่สุด ผ่านค่าเฉลี่ย 50 – 60 Mb/ชม. เนื่องจากการใช้งานช่วงนั้นมาจากการรับชมวีดีโอ และทำไปพร้อมกับการรับชมหน้าจออื่นๆ เช่นโทรทัศน์ไปพร้อมกันด้วย

“ทุกวันนี้ Mobile เข้ามาเต็มรูปแบบ และ Smartphone เป็นอะไรที่ใช้งานกันทุกคน ประกอบกับพกติดอยู่กับตัวทุกคนด้วย และยังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นการที่แบรนด์จะเข้ามาทำอะไรที่จริงจังกับช่องทางนี้ก็คงมีมากขึ้น เพราะมันพิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถเจอกับผู้บริโภคได้ตรงกว่าช่องทางอื่นๆ และความเป็น Personal Device ก็ทำให้การทำตลาดนั้นตรงกับเป้าหมาย และถ้าปีหน้าแบรนด์ใดยังไม่มองช่องทาง Mobile ก็คงเป็นเรื่องแปลก เพราะทั้งแบรนด์ใหญ่ และแบรนด์เล็กต่างหันมาลงทุนเรื่องนี้กันหมดแล้ว”

nielsen3

M – Commerce กับการเพิ่มขึ้นในปี 2560

สิ่งที่ลืมไปไม่ได้ในการใช้งาน Smartphone คือการใช้งานเพื่อทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินในรูปแบบต่างๆ เพราะเมื่อมันเข้าถึงได้ทุกเวลา ต่างจาก Computer ที่มันต้องตั้งอยู่บนโต๊ะ ซึ่งปัจจัยนี้เอง สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือการใช้งาน Application เกี่ยวกับการเงิน เช่นทำธุรกรรมกับธนาคาร และการใช้งานเพื่อซื้อหุ้น ถึง 51% ดังนั้นมันพิสูจน์ได้ว่า ความมั่นใจในเรื่องนี้มีมากกว่าแต่ก่อนมาก และในปี 2560 อาจเป็นยุคที่ Fin Tech เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะความมั่นใจของการใช้งานประเภทนี้จะเติบโตขึ้นไปอีก

สำหรับการใช้งาน M – Commerce อื่นๆ นั้นยังคิดดเป็นส่วนน้อยอยู่ เช่นการใช้เพื่อชำระเงิน หรือ M – Payment ผ่านสัดส่วนเพียง 17% และการใช้งานเพื่อซื้อสินค้ามีเพียง 23% แต่เชื่อว่าการใช้งานทั้งสองประเภทยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นกัน เพราะความเชื่อมั่น, ความสะดวก และการโหมการตลาดของผู้ให้บริการทั้งสองประเภทยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญจะเห็นกลุ่มแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าบนโลกออฟไลน์ หันมาทำตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ และมีแผนการตลาดที่แตกต่างจากช่วงจำหน่ายแบบออฟไลน์อย่างชัดเจน

สรุป

การเข้ามาของ Mobile ก็ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัว เพราะนอกจากมันเป็น Personal Device ทำให้ทำตลาดได้ตรงเป้าหมาย มันยังเป็นแพลตฟอร์มอนาคตที่ยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และฝั่งออฟไลน์ก็คงต้องลดบทบาทลงบ้าง แต่ถึงอย่างไร ฝั่งออฟไลน์ก็ยังได้เปรียบในเรื่องการสร้าง Awareness ให้กับผู้บริโภคในตอนนี้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา