Sea (ประเทศไทย) เปิดกลยุทธ์ Enlarge-Enable-Empower สร้างความแข็งแกร่งให้ 3 บริการหลักอย่าง Garena, Shopee และ AirPay ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
จากบริษัทเกม สู่เพย์เมนต์ และอีคอมเมิร์ซ
ถ้าพูดชื่อบริษัท Sea (ประเทศไทย) หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นบริษัทแม่ของ Garena บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ หลายคนต้องร้องอ๋อแน่นอน
ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2009 บริษัท Garena ได้ถือกำเนิดขึ้น เริ่มต้นจากผู้ก่อตั้งเป็นคนชอบเล่นเกม แล้วเห็นว่ายังไม่มีบริการสำหรับคนเล่นเกมอย่างจริงจังจึงเปิดเป็น Garena ตอนนั้นเป็นสตาร์ทอัพเล็กๆ ในประเทศสิงคโปร์ จากนั้นก็เริ่มขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และไต้หวัน
เมื่อปี 2014 ธุรกิจเกมเริ่มมีความอยู่ตัว จึงขยายตลาดไปยังธุรกิจเพย์เมนต์ หรือการชำระเงินบนโลกออนไลน์ เปิดบริการ AirPay อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับธุรกิจเกมอยู่ เพราะเกมต้องมีการเติมเงินเพื่อซื้อไอเท็มในเกม และในปี 2015 ได้เห็นเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างมาก จึงเปิดตัว Shopee
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อปี 2017 Garena ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Sea เพราะชื่อ Garena ติดกับธุรกิจเกมเกินไป อีกทั้งบริการไม่ได้มีแค่เกมอีกต่อไปแล้ว
Sea มีสำนักงานใหญ่ หรือ Sea (Group) อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 7 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน Sea (Group) เป็น Unicorn รายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ภายใต้สัญลักษณ์ ‘SE’ เมื่อปลายปี 2017
ในระดับภูมิภาคฯ Sea (Group) มีผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 Sea (Group) มีอัตราการเติบโตถึง 194% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2018 มูลค่าของบริษัทในตอนนี้อยู่ที่ 500,000 ล้านบาทแล้ว
สำหรับ Sea (ประเทศไทย) เข้ามาทำตลาดในปี 2012 เริ่มต้นจากธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือ Garena ต่อยอดด้วยบริการเพย์เมนต์ AirPay ในปี 2014 และก้าวเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจาก Shopee ในปี 2015
ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ Sea โดยกลุ่มดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์จาก Garena มียอดผู้ลงทะเบียนจำนวน 35 ล้านบัญชีบนเกมประเภท PC และ 40 ล้านบัญชีบนเกมมือถือ พร้อมเกมยอดนิยม เช่น เกม Arena of Valor (RoV), Free Fire, Speed Drifters, และ FIFA Online 4
กลุ่มอีคอมเมิร์ซจาก Shopee มียอดการดาวน์โหลดสูงกว่า 30 ล้านครั้ง กลุ่มบริการเพย์เมนต์ AirPay มีผู้ดาวน์โหลด 7.5 ล้านดาวน์โหลด และมีจุดให้บริการมากกว่า 200,000 จุด
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริการจาก Sea ไม่ว่าจะเป็น Garena, Shopee และ AirPay ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดีมาโดยตลอด Sea มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการบนอินเทอร์เนตแพลตฟอร์ม ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านบริการที่ครอบคลุมทั้งดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ อีคอมเมิร์ซ และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์ของไลฟ์สไตล์อย่างครบวงจรให้กับผู้บริโภค”
กลยุทธ์ 3Es : Enlarge-Enable-Empower
สำหรับในปีนี้ Sea (ประเทศไทย) มีกลยุทธ์ 3Es ได้แก่ Enlarge-Enable-Empower เพื่อสร้าง Ecosystem ให้กับทั้ง 3 บริการให้มีการเติบโต
Enlarge ขยายสัดส่วนของฐานผู้ใช้งาน
เป็นการขยายผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การีนาสามารถขยายฐานเกมเมอร์ในประเทศไทย ผ่านสองการเปลี่ยนแปลงหลัก คือ 1. ขยายความสำคัญในการให้บริการจากเกม PC ไปสู่เกมบนมือถือ ซึ่งการีนาได้เกมยอดนิยมอย่าง Arena of Valor (RoV) เกมบนมือถือยอดนิยม มียอดลงทะเบียนในประเทศไทยกว่า 31 ล้าน เทียบเท่าเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทย
และ 2.จากการเป็น Game Publisher สู่การเป็น Game Developer ซึ่งเกม Free Fire คือเกมมือถือเกมแรกที่การีนาพัฒนาเองอย่างเต็มรูปแบบ ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและสามารถขยายฐานผู้เล่นเกมไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบละตินอเมริกา เกม Free Fire มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 450 ล้านครั้ง ทำให้ขึ้นแท่นสู่การเป็นเกมออนไลน์ Free to Play ที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังมียอดผู้เล่นพร้อมกันสูงสุดถึง 50 ล้าน ผู้เล่นต่อวันอีกด้วย
Enable เกิดการใช้งานจากผู้บริโภคในวงกว้าง
ผ่านความเข้าใจตลาด และความต้องการของผู้ใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น บนการีนาจากเกม Free Fire ที่ทำให้เกมกลายเป็น Inclusive entertainment โดยเกม Free Fire ใช้เมมโมรี่น้อยลง โดยไม่ลดคุณภาพของเกมเพื่อสามารถดาวน์โหลดและเล่นได้ ตอบโจทย์กับความต้องการของเกมเมอร์ใน emerging market
สำหรับอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นดาราชั้นนำ เช่น ญาญ่า–ณเดชน์, แบมแบม GOT7 และ BLACKPINK ควบคู่กับกิจกรรม Gamification ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ และใช้งานในวงกว้าง เช่น Shopee LIVE Shopee Quiz และ Shopee Shake Shake
Empower สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรม
ทำให้ระบบนิเวศของแต่ละอุตสาหกรรมแข็งแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการรายย่อยที่จะได้รับความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มผู้ค้าขายจาก Shopee University คอมมูนิตี้ภาคการศึกษาผ่านการสนับสนุนและพัฒนาความสามารถของคนรุ่นใหม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา