ปัญหาระหว่างเกาหลีใต้ กับญี่ปุ่นก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกจากญี่ปุ่นมียอดขายลดลงถึง 40% ในเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงการคว่ำบาตรสินค้าจากญี่ปุ่นของชาวเกาหลีอย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้นเกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ค.
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เกาหลีใต้แจ้งว่า ยอดขาย Uniqlo ในเกาหลีใต้ลดลง 40% หลังเกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีใต้เมื่อต้นเดือนก.ค. 2562 ยิ่งเมื่อวันที่ 11 ก.ค. Takeshi Okazaki ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของ Uniqlo ออกมาบอกว่า การคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีใต้จะส่งผลแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น
ก็ยิ่งจุดชนวนการแบน Uniqlo ในเกาหลีใต้เข้าไปใหญ่ เพื่อไม่ให้อะไรมันลุกลามไปมากกว่านี้ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo จึงออกแถลงการณ์ขอโทษในการสื่อสารที่ผิดพลาดของประธานเจ้าหน้าที่การเงินคนนั้น แต่ก็หวังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลในระยะยาวจริงๆ
อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะยอดขาย Uniqlo ในเกาหลีใต้ก็ลดลงเรื่อยๆ แม้ตัวเลข 40% จะไม่ได้ถูกเปิดเผยจาก Uniqlo ก็ตาม แต่มันก็มีอีกจุดที่ชี้ให้เห็นว่า Uniqlo ในเกาหลีใต้นั้นมีปัญหาจริงๆ โดยเฉพาะการปิดสาขาใจกลางกรุงโซลที่ Jongno 3-ga โดยเจ้าของพื้นที่ออกมาบอกว่า Uniqlo ไม่ขอต่อสัญญาเอง
ในทางกลับกัน Uniqlo ก็ออกมาชี้แจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การปิดสาขาที่ Jongno 3-ga มาจากการขอยกเลิกสัญญา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีแต่อย่างใด โดยสิ้นเดือนก.ค. นั้น Uniqlo มีสาขาในเกาหลีใต้ถึง 187 สาขา เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 2548
สรุป
เหตุการณ์คว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีใต้นั้นส่งผลกระทบแรงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างสองประเทศ, การไม่ขอใช้สินค้าที่ผลิตจากประเทศตรงข้าม และกรณี Uniqlo ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าถึงระยะเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน แต่ความขัดแย้งของสองประเทศนี้ก็ยังคงอยู่
*ในปีปฏิทิน 2561 Fast Retailing มีรายได้รวม 1.70 ล้านล้านเยน (ราว 4.88 แสนล้านบาท) มาจาก Uniqlo ในญี่ปุ่น 7.04 แสนล้านเยน (ราว 2.02 แสนล้านบาท) จาก Uniqlo อื่นๆ ทั่วโลก 7.16 แสนล้านเยน (ราว 2.05 แสนล้านบาท) ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นๆ
อ้างอิง // Korea Herald
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา