ปีนี้หลายคนที่ทำธุรกิจคงเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว, ความไม่มั่นคงทางการเมือง รวมถึงความโศกเศร้าในช่วงสิ้นปีอีก จนรู้สึกท้อไปตามๆ กัน เพราะผู้บริโภคไม่จับจ่ายเหมือนในสภาวะปกติ แต่นี่ก็จะปีใหม่แล้ว Brand Inside จึงอาสาปลุกไฟในตัวคุณ ผ่านแนวทางการทำธุรกิจของหลากหลายเอสเอ็มอี เพื่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
เร่งหานวัตกรรมสร้างความแตกต่าง
วราภรณ์ มนัสรังษี กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออลโคโค จำกัด ผู้จัดจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอม All Coco เล่าให้ฟังว่า กว่าตัวแบรนด์จะติดตลาด และเป็นที่รู้จักในต่างประเทศต้องใช้เวลาสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะมะพร้าวน้ำหอมคือผลไม้ที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ดังนั้นถ้าไม่แตกต่าง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะทำธุรกิจต่อ จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับตัวมะพร้าวน้ำหอม เช่นหาวิธีทำให้ตัวมะพร้าวสดใหม่ตลอดเวลา และทำมะพร้าวน้ำหอมแบบปลอกเปลือกพร้อมรับประทาน รวมถึงไอศครีมที่มาจากมะพร้าวน้ำหอมรสชาติต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังกล้าเสี่ยงที่จะเปิดร้าน Coconut Cafe ขึ้นมา เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ นอกจากการวางจำหน่ายภายใน Super Market เพราะต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวแบรนด์ จนปัจจุบันเปิดไปทั้งสิ้น 14 สาขา ที่สำคัญด้วยตัวมะพร้าวน้ำหอมที่หาซื้อได้ยากในต่างประเทศ และความแตกต่างกับผู้เล่นรายอื่น ทำให้ All Coco สามารถเข้าไปวางจำหน่ายในประเทศเกาหลีใต้, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้ และอังกฤษ และกำลังจะขยายเพิ่มเติมอีกด้วย พร้อมย้ำว่า ก่อนจะทำธุรกิจใดๆ ต้องมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภค ก่อนผลกำไร
Dream และ Draw ช่วยเพิ่มความมั่นคง
กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู เสริมว่า กว่าร้าน After U จะเติบโตมาถึงขนาดนี้ ต้องอาศัย Dream และ Draw มามากกว่า 10 ปี เพราะคุณพ่อ (วิวัฒน์ กนกวัฒนาวรรณ) สอนให้กล้าฝัน และจดบันทึกเรื่องที่ชอบมาโดยตลอด ที่สำคัญส่วนตัวชอบทำขนมมาตั้งแต่เด็กๆ และจดสูตรมาตลอด จนปี 2550 ตัดสินใจร่วมหุ้นกับเพื่อนเพื่อเปิดร้าน After U ที่ J Avenue ทองหล่อ และใช้ ขนมปังเนย หรือ Shibuya Toast เป็นพระเอกของร้าน ซึ่งสุดท้ายก็สามารถดึงคนมาที่ร้าน และสามารถขยายได้ 18 สาขาภายใน 9 ปี
“คนที่อยากทำธุรกิจใหม่ควรมี Dream ก่อน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และ Draw มันทุกอย่าง เพราะหากทุกอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องเวลา และงบลงทุน ก็จะสร้างธุรกิจได้เร็วมาก ส่วนเรื่องอนาคตยังไม่อยากให้โตเร็วมากนัก เพราะ After U ปกติแล้วจะเปิดปีละ 1 สาขา แต่พอมันเร็วก็เร็วจริงๆ รวมถึงมีนักลงทุนจากต่างประเทศอยากซื้อเฟรนไชส์เราอีก แต่ก็ไม่อยากขายตอนนี้ แม้อยากจะออกไปทำตลาดต่างประเทศก็ตาม และอยากย้ำว่ากลุ่มเอสเอ็มอีต้องสู้ตลอด ไม่สามารถท้อได้ แม้จะเจอเรื่องหนักๆ ก็ตาม เช่น After U ก็เคยโดนเผาร้านมาแล้ว”
ดึงใจแรงงานผ่านนโยบาย SOTUS
วรชาติ ดุลยเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูลเลเซีย อะกริฟลูอิด จำกัด บอกว่า กว่าบริษัทจะเข้ามาเป็นเบื้องหลังให้กับผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายรายได้ นอกจากทีมงานวิจัยเกี่ยวกับการเกษตรต้องเก่งแล้ว เรื่องพนักงานส่วนอื่นๆ เช่นฝ่ายผลิต และขนส่งก็ต้องมีใจให้กับบริษัทเช่นกัน เพราะถ้าพวกเขาไม่ใส่ใจ ก็เท่ากับฟันเฟืองของธุรกิจหายไปตัวหนึ่งทันที โดยทางบริษัทได้ใช้นโยบาย SOTUS ที่ใช้ในมหาวิทยาลัย เพื่อซื้อใจพนักงานทุกคน และร่วมฝ่าวิกฤติต่างๆ ไปด้วยกัน
“ในระดับคีย์แมน เราก็สักโลโก้บริษัทไปที่ผิวหนังของเขาด้วย คงไม่มีใครบ้าเท่าเราอีกแล้ว ส่วนเรื่อง SOTUS ก็เลียนแบบมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ผมจบมา ทำให้เราอยู่กันเหมือนพี่กับน้อง มากกว่าเจ้านายกับผู้ใต้บังคับบัญชา และเรื่องพนักงานนั้นเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าเงินไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง เพราะถึงให้เงินเดือนเขาสูงแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใจเขาก็คงต้องออกจากองค์กรเรา ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้บริษัทสามารถเจาะกลุ่มบริษัทเคมีทางการเกษตรได้ 300 กว่าบริษัทในไทย และมีหลายองค์กรในต่างประเทศที่ติดต่อให้เราไปช่วยพัฒนาสินค้าด้วย”
สรุป
นวัตกรรม – ความฝัน – การซื้อใจ เป็น 3 เรื่องที่สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตในยุคที่แข่งขันสูงได้ ดังนั้นเอสเอ็มอีรายใดที่อยู่ในช่วงวิกฤตอาจเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ หรือผู้ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจก็สามารถนำไปสร้างธุรกิจได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ต้องอย่าลืมว่า เราไม่สามารถคิดได้แค่ในไทย เพราะตอนนี้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มแล้ว และคู่แข่งก็ไม่ใช่แค่ในประเทศอีกต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา