ย้อนรอยตำนาน FN Outlet ร้านค้ารีเทลกลุ่มเอาท์เล็ทที่สามารถพบเห็นได้ตามถนนทางหลวง หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในไทย สร้างรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท
FN Outlet ต่อยอดจากวิกฤติของแบรนด์ Fly Now
ใครที่ได้เดินทางท่องเที่ยวบ่อยๆ มักจะพบกับป้ายโฆษณาใหญ่ๆ เพื่อบอกว่าใกล้ถึงกับ FN Outlet แล้ว เมื่อได้ขับรถผ่านก็จะพบว่า FN Outlet เป็นเหมือนห้างรีเทลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
FN Outlet หรือ บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งในปี 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เปิดสาขาแรกที่จังหวัดเพชรบุรี จริงๆ แล้วแบรนด์นี้มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยอย่าง Fly Now ซึ่งช่วงหนึ่งที่ Fly Now เจอวิกฤตครั้งใหญ่ จึงได้มีการปรับโมเดลใช้โรงงานที่เพชรบุรีจำหน่ายสินค้าในสต็อกของตัวเองแล้วใช้ชื่อว่า FN Outlet แต่ก็พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงต่อยอดเป็นเป็นธุรกิจใหญ่
Fly Now แบรนด์แฟชั่นได้ก่อตั้งเมื่อปี 2526 โดย ปรีชา ส่งวัฒนา ปัจจุบันก็มีอายุแบรนด์ได้ 36 ปีแล้ว ส่วน FN Outlet ได้บริหารงานโดยรุ่นลูก “เบญจ์เยี่ยม ส่งวัฒนา” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน)
โมเดลของ FN Outlet เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าประเภท Outlet ที่รวบรวมสินค้าราคาถูก ได้เจาะทำเลสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศไทย จึงไม่แปลกใจที่จะได้เห็น FN Outlet ริมถนนทางหลวงที่ตั้งโดดเด่น และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัด เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้าน
สินค้าภายในร้านจะประกอบไปด้วย สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องนอน เครื่องครัว เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และส่วนใหญ่จะเป็นสินค้า Own Brand หรือเป็นแบรนด์ที่สั่งผลิตเองแล้วขายที่ FN Outlet โดยเฉพาะ ทำให้มีกำไรที่สูงกว่า แต่ภายหลังได้มีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาเสริมทัพเพื่อสร้างความหลากหลายมากขึ้น
จุดเปลี่ยนสำคัญของ FN Outlet คือเมื่อปี 2559 ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 125 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท
เจาะทำเลถนนทางหลวง มีสินค้าแบรนด์ของตัวเอง
ปัจจุบัน FN Outlet มีทั้งหมด 12 สาขา โดยแบ่งเป็น 2 โมเดล ได้แก่ บริษัทเป็นเจ้าของพื้นที่เอง 5 สาขา ได้แก่ กาญจนบุรี , สิงห์บุรี, เพชรบุรี, หัวหิน และระยอง ส่วนอีก 7 สาขาเป็นการเช่าพื้นที่ ได้แก่ พระรามเก้า (สำนักงานใหญ่), ปากช่อง, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ศรีราชา, พัทยา และหาดใหญ่
จะเห็นได้ว่าแต่ละสาขาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศไทย มีการเลือกทำเลที่ทั้งดักทางคนกรุงเทพฯ ออกจากเมือง และดักคนกรุงเทพฯ เข้าเมือง แม้แต่สาขาพระรามเก้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นทำเลประตูสู่ภาคตะวันออก
ถ้าดูแล้วโมเดล Outlet ค่อนข้างเป็นที่นิยม และเติบโตไปกับตลาดการท่องเที่ยว ในต่างประเทศเองก็พบว่า Outlet นี่แหละ เป็นแหล่งละลายทรัพย์ชั้นดี! เพราะได้รวบรวมร้านค้าแบรนด์ดัง อีกทั้งยังได้ราคาถูกกว่าหน้าร้านปกติ แต่อาจจะต้องแลกมากับสินค้าที่ตกรุ่นแล้วไปบ้าง
สำหรับ FN Outlet ก็มองมุมเดียวกันคือจับตลาดท่องเที่ยว เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวนอกจากจะแวะซื้อสินค้าแล้ว ยังเป็นจุดแวะพักได้ด้วย
แต่สินค้าของ FN Outlet จะเน้นที่ Own Brand หรือสินค้าที่สั่งผลิตเอง มีสัดส่วนรายได้ถึง 63% (แบ่งเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน 43% และเสื้อผ้า 15%) จะมีแบรนด์อื่นๆ ที่เป็น International Brand ในสัดส่วนเพียงแค่ 37%
แต่ก็ต้องบอกว่าการที่ร้านจะสร้างการเติบโตได้จะต้องมีสินค้าที่หลากหลาย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ต้องการช้อปปิ้งในจุดที่มีสินค้าตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีการเอาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นการดึงดูดใจให้แวะช้อปปิ้ง
เพิ่มร้านค้าเช่า-ช่องทางออนไลน์ ไม่ได้เป็นแค่ที่ช้อปปิ้งแค่อย่างเดียว
ถ้าดูโครงสร้างด้านการเงินจะพบว่า FN Outlet ไม่ได้มีการเติบโตที่สูงมาก โดยเฉพาะรายได้จากสาขาเดิมไม่ได้สร้างการเติบโตเท่าที่ควร กลยุทธ์สำคัญอย่างแรกคือ การเติมแบรนด์เนมอื่นๆ เข้าไปให้มีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ Own Brand เพียงอย่างเดียว
รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่เช่าให้มีร้านค้า ร้านกาแฟ ร้านอาหารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น KFC, Starbucks, Cafe Amazon และร้านอาหารอื่นๆ รวมถึงการเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ อย่าง Dino Zipline ที่สาขาเพชรบุรี เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ได้มีแค่การช้อปปิ้งอย่างเดียว แต่เป็นที่พักรถ แวะทานข้าวได้
นอกจากนี้มีการเพิ่มช่องทางการขายในส่วนออนไลน์ให้มากขึ้น โดยมีทุกแพลตฟอร์มทั้ง LINE, Facebook, Instagram รวมถึงแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee, Lazada, JD.co.th และมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง fnshopnow.com ปัจจุบันรายได้จากออนไลน์มีสัดส่วน 3% มีการตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 6%
สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา FN Outlet มีรายได้รวม 1,105 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนเพียงแค่ 0.3% เท่านั้น แบ่งสัดส่วนเป็นยอดขายจากสินค้า 1,057 ล้านบาท คิดเป็น 96% และรายได้จากค่าเช่าพื้นที่อีก 47 ล้านบาท คิดเป็น 4% มีกำไรสุทธิ 29 ล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา