เมื่อส่วนต่างรายได้หญิง-ชายในไทยใกล้กันมากขึ้น แต่คนมีลูกกลับมีรายได้น้อยกว่าคนโสด

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปผู้หญิงไทยออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ภาพรวมรายได้ผู้หญิงใกล้เคียงผู้ชายมากขึ้น แต่เมื่อศึกษาเจาะลึกกลับพบว่าคุณแม่ที่มีลูกน้อยยังมีรายได้น้อยกว่าคุณพ่อ และน้อยกว่าคนโสดด้วยซ้ำ?

Bangkok Family Motorcycle
ภาพจาก Shutterstock

ชี้นโยบายรัฐสาเหตุใหญ่ที่ทำให้พ่อ-แม่ในไทยมีรายได้น้อยกว่าคนโสด

ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ผลการศึกษาในประเทศไทยเรื่องรายได้พบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (1995-2015) การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างแรงงานหญิงและแรงงานชายในไทย โดยแรงงานที่ไม่มีลูก (เช่น คนโสด ฯลฯ) จะมีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งตรงกับงานวิจัยในต่างประเทศ

ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในไทยแรงงานหญิงที่แต่งงานแล้วมีอัตราการเข้าทำงาน (อัตราการเข้าร่วมแรงงาน) 80% สาเหตุที่ทำให้ค่าแรงน้อยกว่าคนไม่มีลูกได้แก่

  • คุณแม่ (แรงงานหญิงที่มีลูก) จะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูก 22% เพราะเมื่อมีลูกจะลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงดูลูก รวมถึงปัญหาการกีดกันการจ้างงานของแรงงานหญิงที่มีลูกในตลาดแรงงาน
  • คุณพ่อ (แรงงานชายที่มีลูก) ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูก 17% แต่หากเป็นคุณพ่อที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกจะมีรายได้ลดลง เพราะแรงงานชายมีสิทธิในการลาไปดูแลลูก 15 วัน และไม่มีนโยบายการลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ชาย ต่างจากประเทศอื่นที่สามารถเลี้ยงดูลูกได้นานกว่า เช่น สวีเดน 480 วัน
    เมื่อมีลูกค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนโสด เพราะมีแนวโน้มการเพิ่มชั่วโมงทำงาน
    สอดคล้องกับสังคมส่วนใหญ่ผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลักในครอบครัว โดยมีผู้หญิงเป็นรายได้รอง

ทั้งนี้ส่วนต่างค่าจ่างแรงงานที่มีลูกระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะคุณแม่ และคุณพ่อ (ที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก) ต้องลดชั่วโมงทำงานลงเพื่อมาดูแลลูก ดังนั้นสาเหตุของปัญหาอาจมาจากการขาดการสนับสนุนภาครัฐในการเลี้ยงดูลูก

ดังนั้นภาครัฐควรมีนโยบายที่สนับสนุนสิทธิให้ผู้หญิงและผู้ชายที่มีลูก เช่น การลาคลอดบุตร ความช่วยเหลือภาครัฐในการเลี้ยงดูลูก การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ฯลฯ

ภาพจาก Shutterstock

ข่าวดี! ส่วนต่างค่าจ้างระหว่างชายหญิงมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ไทยล่ะ?

ตั้งแต่ปี 1990 ส่วนต่างรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายทั่วโลกปรับตัวลดลง รวมถึงประเทศไทยส่วนต่างอัตราค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างหญิง-ชายลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1985 ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีปัญหาการกีดกันทางเพศที่ค่อยข้างน้อย เพราะครอบครัวไม่มีอคติในการให้การศึกษากับลูกสาวและลูกชายต่างจากบางประเทศที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญลูกชายมากกว่า

นอกจากนี้ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลจากการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 1978 และนโยบายส่งเสริมการศึกษา ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าจ้างผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อ 30ปีที่แล้วค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมากถึง 20 % แต่ปัจจุบันช่องว่างลดลงแทบไม่มีความแตกต่างกัน แต่จากงานวิจัยพบว่าความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สรุป

ที่ผ่านมาค่าจ้างของเพศชายมักจะสูงกว่าเพศหญิง เพราะค่านิยมของสังคมให้เพศชายเป็นผู้หารายได้หลัก รวมถึงค่าจ้างแรงงานที่ต่างกัน แต่ปัจจุบันเพศหญิงออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ส่วนต่างรายได้ระหว่างหญิงชายลดลง รวมถึงประเทศไทย แต่ยังต้องจับตาค่าจ้างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูก เพราะตอนนี้กลายเป็นว่ารายได้ของคุณพ่อคุณแม่ลดลงเพราะมีต้นทุนมากกว่า และมีค่าเสียโอกาสเมื่อต้องลดชั่วโมงทำงานลง ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนในส่วนนี้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง