ตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนของไทยยังวิกฤติ ตัวเลขรวมของการส่งออกไทยติดลบ 2.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากหักการส่งออกทองคำออกไปแล้ว เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่งออกจะติดลบถึง 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ส่งออกไทยยังวิกฤติ ตัวเลขการส่งออกไทยเดือน มิ.ย. 2019 โดยรวมหดตัวที่ -2.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หากหักทองคำ การส่งออกหดตัวถึง -8.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และถ้าหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ -4.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- ทำไมค่าเงินบาทแข็งค่า Goldman Sachs มองสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “คนไทยซื้อขายทองคำ”
- [เปรียบเทียบ] ทำไมค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและแข็งค่ากว่าคู่ค้าหลักของไทย
- SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.1% กรณีเลวร้ายสุดเหลือ 2.7% ผลจากส่งออกลดลง
สินค้าสำคัญที่มีการหดตัวยังคงเป็นสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น
- คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ -15.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- เคมีภัณฑ์และพลาสติก -19.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- แผงวงจรไฟฟ้า -20.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีการหดตัว เช่น ข้าว เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง รวมไปถึงน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวในเดือน มิ.ย. คือยางพาราที่ส่งออกเติบโตถึง 11.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการส่งออกยางพาราไปยังตลาดจีนและสหรัฐ
สำหรับตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนที่ผ่านมาหดตัวเกือบทุกตลาดสำคัญ
- การส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง -14.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- การส่งออกไป CLMV ที่หดตัว -9.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แยกรายละเอียดได้ดังนี้
- กัมพูชา หดตัวมากจากการส่งออกจักรยานยนต์
- ลาว หดตัวมากจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป
- เมียนมา หดตัวมากจากการส่งออกเครื่องจักร
- เวียดนาม หดตัวมากจากการส่งออกเม็ดพลาสติก
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังอินเดียยังสามารถขยายตัวได้ที่ 8.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขดุลการค้าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้นดุลการค้าของประเทศไทยยังเกินดุลที่ 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง มีแนวโน้มทำให้ GDP ไตรมาส 2 ของปีนี้ชะลอตัวจากไตรมาสแรก สะท้อนว่าสถานการณ์ด้านส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ยังไม่มีทิศทางดีขึ้นจากไตรมาสแรก นอกจากนี้ SCB EIC ยังมีมุมมองที่ว่าการหดตัวที่ต่อเนื่องของภาคส่งออกได้เริ่มกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การชะลอลงของภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน จึงทำให้คาดว่า GDP ไตรมาสที่ 2 จะมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% ทั้งนี้ SCB EIC ยังคงมุมมองอัตราการขยายตัวของ 2019 GDP ที่ 3.1%
ที่มา – บทวิเคราะห์ของ SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา