รู้หรือไม่! หุ้นโลกขาขึ้นแต่บาทแข็งทำเงินคนไทยในกองทุนรวม FIF หายไป 27,500 ล้านบาท

ช่วงเวลานี้ตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกยังเติบโตสวยงาม แต่ค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า อาจทำให้หลายคนสนใจไปลงทุนในกองทุน หรือหุ้นในต่างประเทศ เพราะคุ้มกว่า

ส่วนคนที่ลงทุนไปแล้วถึงกองทุนฯ ยังมีกำไร แต่ได้ผลตอบแทนน้อยลงหรือไม่?

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics)

บาทแข็งค่ากระทบกองทุนรวมต่างประเทศหดตัว

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2019 ค่าเงินบาทแข็งค่า 5.18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนไทยกองทุนรวมเพื่อลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) ทั้งหมด 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • ตราสารหนี้ 836,000 ล้านบาท
  • หุ้น 234,000 ล้านบาท
  • กองทุนผสม 128,000 ล้านบาท
  • สินค้าโภคภัณฑ์ 28,000 ล้านบาท

แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือเมื่อเงินบาทแข็งค่าทำให้ มูลค่ากองทุนทั้งหมด (AUM) ลดลง 27,500 ล้านบาทเมื่อเทียบจากต้นปี 2019 ซึ่งเงินก้อนนี้ถ้าไม่หายไปยังเพิ่มผลตอบแทนได้อีก ส่วนถ้าดูมูลค่าการจัดจำหน่ายลงทุน (NAV) ค่าเฉลี่ยรวมทั้งตลาดลดลง 0.47% โดยกองทุนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ทองคำและน้ำมัน ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ในไทยส่วนใหญ่จะลงทุนผ่าน Master Fund (กองทุนหลัก) ในต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อกองทุนเกิดผลตอบแทน ต้องลบค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวมในไทย ลบค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็ทำให้ผลตอบแทนที่คนไทยได้จะน้อยลงไปด้วย

เมื่อลงทุนนอกมีความเสี่ยง มาดูต้นทุนการทำ Hedging ของกองทุนรวม FIF

ปัจจุบันกองทุนรวม FIF บางส่วนมีทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) เช่น หากดูกองทุนรวม FIF ที่เป็นหุ้นประมาณ 50% จะทำ Hedging แบบดุลยพินิจ คือผู้จัดการกองทุนเป็นคนเลือกว่าจะทำ Hedging ช่วงไหน

อย่างไรก็ตามต้นทุนการ Hedging ของกองทุนรวม FIF ในช่วง Swap point ติดลบจะลดแรงจูงใจการทำ Hedging เพราะจะทำให้ผลตอบแทนกองทุนที่ขายในไทยลดลงได้วย ปัจจุบันต้นทุนในการทำ Hedging ทั้ง 100% อยู่ที่ 0.30% ของ AUM กองทุนรวมนั้นๆ ถ้าเลือกจะทำ Hedging ประมาณ 50% จะคิดค่าใช้จ่ายราว 0.15%ของ AUM กองทุนรวมนั้นๆ

ข้อมูลการทำ Hedging ของกองทุนรวม FIF ในไทย

ว่าแต่กองทุนรวม FIF เขาทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) อย่างไร?

ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ผ่านการทำประกันความเสี่ยงผ่านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (ล่วงหน้า) ลักษณะคล้ายกับผู้ส่งออกที่ต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน 

ทั้งนี้ราคาหรืออัตราในการทำ Hedging ยังแพงขึ้นเพราะ Swap Point หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐยังต่างกันมาก ที่่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Swap point ของไทยติดลบตลอด ส่งผลต่อการทำ Hedging

ตัวอย่างเช่น หาก Swap point ติดลบ 12 สตางค์ ลูกค้าต้องการทำสัญญาซื้อขายบาทที่ Spot rate : 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใน 6 เดือนข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่กำหนดลูกค้าจะได้เงินค่าสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันหากทำ Hedging ใน Swop point เป็นบวก เช่น หาก Swap point บวก 10 สตางค์ เมื่อลูกค้าการทำสัญญาซื้อขายบาทที่ Spot rate : 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใน 6 เดือนข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่กำหนดลูกค้าจะได้เงินค่าสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หมายถึงลูกค้าได้เงินเพิ่มขึ้น เพราะหมายถึงกำไรที่มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา