EIC ชี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยุคนี้ ใช้ Data เอาเปรียบรายย่อย ปั้นสินค้าราคาถูกมาแข่ง

Amazon และ Alibaba คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้ ?

Ecommerce
Ecommerce Photo: Shutterstock

ในโลกที่เจ้าของแพลตฟอร์มคือผู้กำหนดเกมการแข่งขัน

บทวิเคราะห์ของ SCB EIC (Economic Intelligence Center) อธิบายภาพการต่อสู้ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในโลกยุคนี้ โดยชี้ว่า เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการจับจ่ายของผู้บริโภคมาออกแบบสินค้าเป็นของตัวเองหรือที่เรียกว่า Private Brand

การเดินเกมของเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในลักษณะนี้ นักวิเคราะห์มองว่า นี่คือการใช้ข้อได้เปรียบจากข้อมูลอันมหาศาล เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะรู้ได้ว่า “ผู้ผลิตรายใดผลิตสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่า แต่คุณภาพใกล้เคียงกับผู้ผลิตรายอื่น และจ้างโรงงานเหล่านั้นผลิตสินค้า Private brand ในปริมาณมาก ทำให้ได้สินค้าราคาไม่สูงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตนเอง ส่งผลให้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการแบกรับต้นทุน ซึ่งเอื้ออำนวยให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุนและเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นๆ ได้สะดวก เพราะสินค้าที่ผลิตจะเป็นสินค้าที่มีลักษณะมาไวไปไว”

  • ในแง่หนึ่ง การใช้ข้อได้เปรียบด้านข้อมูลของเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หมายถึง การกีดกันผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะแบรนด์ที่ยังไม่แข็งแกร่ง เพราะสินค้าที่เจ้าของแพลตฟอร์มสร้างขึ้นได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก

ในฝั่งตะวันตก แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้าข่ายนี้มากที่สุดคือ Amazon ดูได้จากในช่วงที่ผ่านมามีการสร้างสินค้าแบรนด์ตัวเอง (house brand) ขึ้นมาในชื่อ AmazonBasics ผลิตสินค้าแทบทุกชนิด (เช่น สาย HDMI, แบตเตอรี่, สายส่งสัญญาณเสียง แม้กระทั่งมีด) นอกจากนั้นยังมี Amazon Collection ที่ผลิตอัญมณี Amazon Essentials ที่ผลิตเสื้อผ้า, Pinzon ที่ผลิตผ้าเช็ดตัวและเครื่องนอน ซึ่งในปัจจุบัน Amazon มีสินค้า Private brand ทั้งสิ้น 406 แบรนด์จำนวนกว่า 23,142 ชิ้น

ส่วนฝั่งตะวันออก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Alibaba และ JD.com ที่ครองสัดส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซจีนที่ 58.2% และ 16.3% ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองแพลตฟอร์มก็ได้ทำสินค้า house brand มาแย่งลูกค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน

Ecommerce
Ecommerce Photo: Shutterstock

กินรวบออนไลน์ไม่พอ ต่อยอดออฟไลน์ด้วยเลย

นอกจากนั้น EIC วิเคราะห์ว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในยุคนี้เริ่มมีกระแสที่ไม่ได้หยุดการแข่งขันแค่ในออนไลน์เท่านั้น เพราะขยายการแข่งขันไปสู่โลกออฟไลน์แล้ว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่ Amazon ซื้อกิจการ Whole Foods Market ด้วยเงินกว่า 4.6 แสนล้านบาท เดินเครื่อง Retail เต็มตัว หรือการที่ Alibaba บุกธุรกิจห้างสรรพสินค้า

กลยุทธ์ลักษณะนี้เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน หลายคนเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) หรือบางคนอาจเรียกว่าเป็นกลยุทธ์แบบ New Retail

ที่มา – บทวิเคราะห์ SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา