ตลาดเดือด! เมื่อ “ชาไข่มุก” ไม่ใช่แค่ปรากฎการณ์ฟีเวอร์ แต่เป็นไลฟ์สไตล์ไปแล้ว

บทวิเคราะห์ตลาดชาไข่มุกขึ้นแท่นเครื่องดื่มสุดฮิตแห่งยุค กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ แม้แก้วละเป็นร้อยแฟนๆ ก็ยอมจ่าย!

เปิดปรากฎการณ์ชาไข่มุกกันทั่วเมือง

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มที่ยอดนิยมที่สุดในยุคนี้คงหนีไม่พ้น “ชาไข่มุก” อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ตามท้องถนน หรือตามศูนย์การค้า ได้พบเห็นคนดื่มชาไข่มุกกันแพร่หลาย เป็นเครื่องดื่มที่คนทุกเพศ ทุกวัยชื่นชอบไปแล้ว

ย้อนกลับไปในอดีตนั้น ชาไข่มุกเคยฮอตฮิตอยู่ช่วงหนึ่ง เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มยุค 90 เลยก็ว่าได้ ใครที่ได้มาเดินสยามสแควร์แล้วดื่มชาไข่มุกถือว่าอินเทรนด์สุดๆ ถ้าจำไม่ผิดคือชาไข่มุกยุคนั้นจะมาในแก้วทรงสูง หลายคนอาจจะเรียกว่าแก้วดัมเบล เพราะมีรูปทรงเหมือนดัมเบลยกน้ำหนัก

แต่ในยุคนั้นชาไข่มุกยังมีกลุ่มคนดื่มแบบเฉพาะกลุ่ม ประกอบกับไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสเหมือนในยุคนี้ ทำให้กระแสชาไข่มุกเริ่มซาๆ ลงไป แล้วกลับมาอีกครั้งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

การกลับมาที่ว่านั้นคือการได้เห็นแบรนด์ชาไข่มุกจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากประเทศ “ไต้หวัน” เพราะเป็นต้นกำเนิดของชาไข่มุก แต่ก็มีแบรนด์ไทยอยู่ด้วย ตอนนั้นผู้บริโภคเริ่มเปิดรับเครื่องดื่มใหม่ๆ จนทำให้ตลาดกลับมามีชีวิตชีวา แต่ก็ไม่ถึงกับหวือหวามาก

มีผลวิจัยของทาง Allied Market Research ได้ประเมินตลาดชาไข่มุกทั่วโลกในปี 2016 ไว้ว่ามีมูลค่า 1,957 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 62,000 ล้านบาท และจะโตแบบก้าวกระโดดจนมีมูลค่าถึง 3,214 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 หรือราว 102,000 ล้านบาท

ส่วนในประเทศไทยมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรบอกว่า ตลาดชาไข่มุกในประเทศไทยมีมูลค่าราว 2,000-2,500 ล้านบาท แต่ในตอนนี้อาจจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าแล้วก็ได้

ราคาแมสๆ 20 บาท ทะลุไปถึงเกือบ 200 บาท

แบรนด์ในตำนานของชาไข่มุกในประเทศไทยหลายคนคงนึกถึง “Mr. Shake” อย่างแน่นอน เป็นแบรนด์ขวัญใจเด็กสยามสแควร์ ซึ่ง Mr. Shake เป็นแบรนด์ชาไข่มุกแบรนด์แรกๆ เลยก็ว่าได้ เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 1999 จนถึงตอนนี้ก็ 20 ปีแล้ว มีราคาเริ่มต้นที่ 40 บาท

จากนั้นก็เริ่มมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาด แบรนด์ยอดนิยมที่มีสาขามากที่สุดคงจะเป็น Ochaya เรียกว่าเป็นแบรนด์ระดับแมส มีเมนูหลากหลาย ราคาตั้งแต่ 35 บาทขึ้นไป และยังมีโมเดลแฟรนไชส์ในการขยายสาขา

จริงๆ แล้วชาไข่มุกในไทยมีหลายร้อยแบรนด์ แต่แบรนด์ดังๆ ที่หลายคนรู้จัก ได้แก่ Mr. Shake, Mr. Shake Beyond, Ochaya, KOI The, KAMU, FUKU Matcha, Brown Cafe, ATM Tea Bar, Dakasi, CoCo และ The Alley

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชาไข่มุกเริ่มเป็นที่นิยม แบรนด์จากต่างประเทศเริ่มเข้ามาบุกตลาด ราคาก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นชาไข่มุกระดับพรีเมี่ยมตั้งแต่ 70 บาท ไปจนถึง 150 บาทก็ยังมี และที่สร้างกระแสฮือฮาอย่างมากเมื่อแบรนด์ Tiger Sugar จากประเทศไต้หวันได้มาบุกไทย เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า The Market Bangkok มีราคาเริ่มต้นที่ 120 บาท สร้างกระแสคนต่อคิวยาวเหยียด

ยังมีแบรนด์ Fire Tiger by Seoulcial Club หรือหลายคนเรียกกันว่าชานมเสือพ่นไฟ มีจุดเด่นที่มีการตกแต่งร้านสไตล์เกาหลี แต่เป็นแบรนด์ของคนไทยแท้ แบรนด์มีการสร้างจุดขายมากมายในภาวะที่ตลาดแข่งขันกันดุเดือด ทำให้เมนูราคา 150 บาท ก็มีคนยอมต่อแถวซื้อได้

แต่นอกจากแบรนด์ดังที่มีราคาแก้วละหลายสิบหลายร้อยบาทแล้ว ตลาดชาไข่มุกยังมีช่องว่างโดยมีแบรนด์ที่เรียกว่าชาไข่มุกราคานักเรียน ราคาเริ่มต้น 19 บาท ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เช่นกัน

จะเห็นว่าในตอนนี้ราคาของชาไข่มุกมีหลากหลายเซ็กเมนต์มาก ถ้าให้แบ่งจริงๆ คงจะได้ 3 กลุ่ม ระดับล่างที่มีราคาเฉลี่ย 19-30 บาท ระดับกลางราคาเฉลี่ย 35-60 บาท และระดับพรีเมี่ยมที่มีราคาตั้งแต่ 70 บาทขึ้นไป แต่ราคามาตรฐานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35-40 บาท เป็นราคาที่แมสที่สุด

Moma’s Bubble Tea Bar ชาไข่มุกราคาเริ่มต้น 19 บาท

ความน่าสนใจก็คือผู้บริโภคในยุคนี้ก็ยินดีที่จะจ่ายค่าชานมไข่มุกในราคาร้อยกว่าบาท เพื่อแลกกับความสุขกับการดื่มชาไข่มุกด้วยเช่นกัน

ทำให้ตอนนี้สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าตลาดชาไข่มุกเป็น Red Ocean มีการแข่งขันกันดุเดือดจริงๆ ทั้งแบรนด์เก่าที่ทำตลาดมายาวนาน และแบรนด์ใหม่ที่มองเห็นโอกาสได้ตบเท้าเข้ามาทำตลาด ทั้งแบรนด์ต่างประเทศ และแบรนด์ไทย

ทุกร้านต้องมีเมนูชาไข่มุก!

และด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ที่นี่ประเทศไทย” อะไรฮิต อะไรเป็นกระแส ทุกคนต้องขอร่วมขบวนนี้ด้วย ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้เห็นเมนูอาหาร หรือร้านต่างๆจะต้องมีเมนู “ชาไข่มุก” หรือจะต้องมีไข่มุกเป็นส่วนประกอบ

เชนร้านอาหาร หรือร้านเครื่องดื่มใหญ่ก็ต้องมีเมนูชาไข่มุกเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นแบรนด์ก็มีส่วนร่วมกับสังคม มีเมนูรับกับความต้องการผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น MK Restuarants ก็มีเมนูชาไข่มุกที่หลากหลาย, Squeez ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเครือของ Tipco ก็มีเมนูชาไข่มุกด้วยเช่นกัน

ร้านสะดวกซื้อเบอร์ใหญ่อย่างเซเว่นฯ และแฟมิลี่ มาร์ทก็ไม่น้อยหน้า ต้องมีเมนูชาไข่มุกอยู่ในเคาท์เตอร์กาแฟสดด้วย อาจจะมีการเปลี่ยนท็อปปิ้งของไข่มุกเป็นอย่างอื่นบ้าง

Photo : Starbucks

หรือแม้แต่แบรนด์ยักษ์ระดับโลกอย่าง Starbucks ก็ยังมีเมนู “Dark Caramel Coffee Sphere Frappuccino” ที่ตัวไข่มุกเป็น Coffee Pearl หรือไข่มุกกาแฟ อาจจะไม่ใช่ไข่มุกโดยตรง แต่ก็ทดแทนกันได้ ให้ความรู้สึกว่ามีไข่มุกได้เหมือนกัน

รวมไปถึง IKEA ก็มีเมนูชาไข่มุก พิเศษคือเป็นเมนูโลคอลที่คิดค้น และมีเฉพาะที่ประเทศไทยที่เดียวเท่านั้น ประเทศอื่นยังไม่มีการวางจำหน่ายใดๆ แสดงให้เห็นว่าคนไทยคลั่งไคล้กับชาไข่มุกจนแบรนด์ใหญ่ต้องเอาใจกันถ้วนหน้า

ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นไลฟ์สไตล์

หลายคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วกระแสชาไข่มุกจะอยู่ยาวหรือไม่? จะมาแค่ชั่วครู่แล้วหายไปเหมือนกับกระแสอื่นๆ อย่างชาเขียว, โรตีบอย, โดนัทคริสปี้ ครีม และไข่เค็มหรือไม่

เท่าที่ดูจากประแสตอบรับ และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้แล้ว บอกได้เลยว่าชาไข่มุกไม่ได้เป็นแค่กระแสอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนไลฟ์สไตล์ที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนไปแล้ว

บางคนดื่มชาไข่มุกเหมือนดื่มกาแฟ นั่นคือดื่มเป็นประจำทุกวัน ดื่มหลังทานอาหารเที่ยง หรือดื่มตอนเดินห้างฯ ดื่มตอนทำกิจกรรมต่างๆ

เพราะเท่าที่สังเกตร้านชาไข่มุกในศูนย์การค้าต่างๆ แม้จะมีหลากหลายแบรนด์ดัง แต่ทุกร้านก็มีคิวต่อแถวกันมากมาย คงไม่ใช่กระแสนำพาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นความชอบของแต่ละคนด้วย

ยิ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ตลาดเครื่องดื่มมีการเติบโตขึ้นทุกปี พฤติกรรมคนไทยจะติดเครื่องดื่มเพื่อดับกระหาย ยิ่งทำให้ชาไข่มุกเป็นที่นิยม ยิ่งในช่วงหลังกลายเป้นเครื่องดื่มของทุกเพศทุกวัย ผู้ชายก็ดื่มชาไข่มุกด้วยเช่นกัน

ขึ้นแท่นธุรกิจน่าลงทุน

ถ้าพูดถึงในแง่ของธุรกิจ ชาไข่มุกก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในปีนี้ ผู้ประกอบการ SME ก็เป็นเจ้าของธุรกิจด้วยโมเดลแฟรนไชส์ได้ ซึ่งตอนนี้มีหลายแบรนด์ที่เปิดขายแฟรนไชส์ ตั้งแต่แบรนด์เล็กๆ ระดับโลคอล ไปจนถึงแบรนด์ใหญ่ที่มีพื้นที่ในศูนย์การค้า

ราคาค่าแฟรนไชส์มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับแบรนด์ อุปกรณ์ และทำเล ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่ม รวมถึงชาไข่มุกได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี มีกำไรสมน้ำสมเนื้อ ยิ่งผู้บริโภคนิยมดื่มยิ่งทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการได้

ชาไข่มุกร้อยล้าน

เปิดรายได้ชาไข่มุก 4 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ รายได้หลักร้อยล้าน!

  • Koi THE (บริษัท โคอิ เตะ (ประเทศไทย) จำกัด)

ปี 2561 รายได้รวม 304 ล้านบาท กำไรสุทธิ 81 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 62 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8 ล้านบาท

  • Ochaya (บริษัท โอชายะ กรุ๊ป จำกัด)

ปี 2560 รายได้รวม 148 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.2 แสนบาท

ปี 2559 รายได้รวม 127 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.8 แสนบาท

  • FUKU Macha (บริษัท มาย ฟุกุ มัทชะ จำกัด)

ปี 2561 รายได้รวม 152 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.2 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.6 แสนบาท

  • KAMU (บริษัท คามุ คามุ จำกัด)

ปี 2561 รายได้รวม 153 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21.4 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 67 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5.7 ล้านบาท

สรุป

ปัจจัยความสำเร็จของตลาดชาไข่มุกที่กลับมาสร้างปรากฎการณ์ได้อีกครั้งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เห็นได้ชัดคือการมีกิมมิกอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่มุกสีทอง ไข่มุกแคลลอรี่ต่ำ หรือเมนู Brown Sugar ไข่มุกในน้ำตาลทรายแดง หรือจะเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างความตื่นเต้นให้ตลาด และสร้างความหลากหลาย จับกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น

ส่วนตัวของผู้เขียนเป็น “ทาส” ของชาไข่มุกเช่นกัน ยอมรับว่าชาไข่มุกเข้ามาอยูในไลฟ์สไตล์จริงๆ จากที่ในอดีตไม่ได้ชื่นชอบมาก อาจจะเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในวัยที่ดื่มชา หรือเครื่องดื่มเหล่านี้ และยังไม่มีกำลังซื้อมากพอ แต่ตอนนี้ใครๆ ก็ดื่มชาไข่มุกได้แล้ว เชื่อว่ากระแสครั้งนี้น่าจะอยู่ไปอีกยาวๆ อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา