ยุคดิจิทัลใครๆ ก็ซื้อของออนไลน์กันทั้งนั้น แต่ธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวได้ช้า หรือธุรกิจใหม่ที่อยู่บนโลกออนไลน์ก็ต้องเพิ่มบริการใหม่ๆ เข้าถึงลูกค้า
Brand Inside มีโอกาสได้พูดคุยกับ วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ที่จะหาทางออกให้ลูกค้า และเป็นทางออกของธนาคารไปด้วยกัน
โลกเปลี่ยน ธุรกิจรายย่อยในยุค New Retail ต้องเป็นแบบไหน?
วีรวัฒน์ เล่าว่า ในฐานะธนาคารมีลูกค้าทั้งฝั่งคนขาย และคนซื้อ ในยุคดิจิทัลแบบนี้ เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อให้เร็วขึ้นในทุกด้าน ถ้าฝั่งคนขายตามไม่ทันก็อาจกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ
ในยุค New Retail จึงต้องเร็วขึ้นทุกด้าน ทำให้ธนาคารต้องขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยดิจิทัล ใช้ข้อมูลต่างๆ มาปรับใช้ให้ช่องว่างระหว่างออนไลน์และออฟไลน์หายไป ที่สำคัญธนาคารต้องหาวิธีสร้างที่ยืนของตัวเองในจุดที่ลูกค้าต้องการบริการ
“ธุรกิจ Retail เปลี่ยนไปเยอะมาก ทั้งคนซื้อ-คนขาย ทุกวันนี้เมื่อเราเป็นผู้ซื้อ จะตัดสินใจก่อนไปหน้าร้าน ไม่ก็ซื้อของผ่านระบบออนไลน์เลย แล้วไปรับสินค้าที่อื่น ดังนั้นรูปแบบการรับ-จ่ายเงินก็หลากหลายไปด้วย ไม่ใช่แค่เงินสด มี QR Code กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) รวมทั้งบัตรต่างๆ”
Pain point ของฝั่งคนขายในยุคนี้
เมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกธุรกิจ เทรนด์หลักหนีไม่พ้น พฤติกรรมคนที่ใช้มือถือมากขึ้น เราต้องเข้าไปให้บริการกับลูกค้าได้ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่รู้จักใช้ทั้งเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มบริการให้ลูกค้า และใช้ข้อมูลมาเรียนรู้ หาทางเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นอยู่แล้ว
“สำหรับ SME ปัญหาแรกคือ ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเปลี่ยน เหมือนกบที่อยู่ในน้ำที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่รู้ตัวเร็วก็เริ่มปรับตัวได้ไวกว่า ที่สำคัญถ้าโลกเปลี่ยนแต่ธุรกิจไม่ปรับตัวก็อยู่รอดได้ยาก”
ปัจจุบันธุรกิจไซส์ไหนก็ต้องใช้ข้อมูลให้เป็น ตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน เพราะเมื่อเทคโนโลยีทำให้ทุกคนเปลี่ยน กลุ่มธุรกิจเครือข่ายรายใหญ่วิ่งเข้าหาลูกค้ารายย่อยเอง SME รายเล็กยิ่งต้องหาทางรักษาตลาดเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เช่นกัน
แต่การปรับตัวลูกค้าต้องตัดสินใจว่าจะไม่ปิดบังข้อมูลการเงิน อย่างการทำบัญชีเดียว จะทำให้ลูกค้ารู้ต้นทุน-กำไร และสภาพจริงของธุรกิจ เช่น หากลูกค้าใช้เงินสดทั้งหมด ธนาคารไม่เห็นข้อมูลจริงก็ช่วยวิเคราะห์หาทางออกยากขึ้น
“จุดที่เชื่อมระหว่างธนาคารกับลูกค้าคือ การเงิน ถ้าไม่เชื่อมข้อมูลจริง แบงก์ช่วยได้ลำบาก เช่น ธนาคารทำสถิติว่าร้านกาแฟของคุณอยู่อันดับเท่าไรในย่านนี้ แบงก์ก็ต้องพึ่งข้อมูลจริงจากลูกค้าเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ได้ดีที่สุด”
KBank เตรียมเครื่องมือเพิ่ม Solution ให้ลูกค้าอย่างไร?
ปัจจุบันลูกค้าไม่ต้องการธนาคาร ถึงไม่มีแบงก์ก็อยู่ได้สบาย ดังนั้นต้องเข้าไปสร้างความหมายในชีวิตลูกค้า คือเมื่อคนคิดจะซื้อ- ขายของ แบงก์ต้องไปอยู่ตรงนั้นให้คนรับ-จ่ายเงินได้
ธนาคารจึงมีเครื่องมือให้ลูกค้าหลากหลายที่เชื่อมช่องทางทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน เช่น แอปพลิเคชั่น โมบายแบงก์กิ้งอย่าง K PLUS ที่ช่วยให้คนไทยรับ-จ่ายเงินง่ายขึ้น การเกิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) เป็นต้น
“ตอนนี้เรามีฐานลูกค้า K PLUS กว่า 11 ล้านราย ทำให้รู้ว่าใครเป็นใคร มีข้อมูล เพศ อาชีพ อายุ และรู้พฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อที่แบงก์จะรู้ใจลูกค้ามากขึ้น โดยใช้ AI อย่าง KADE มาตอบสนองความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม”
ฝั่ง SME มี K PLUS Market ที่มีลูกค้าเข้ามาชมสินค้ากว่า 120,000 รายต่อวัน ขายสินค้ากว่า 32,000 SKU บนมือถือ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ SME ขนาดเล็กที่มีสินค้าคุณภาพได้เจอกับลูกค้าหลักสิบล้านคนบน K PLUS ผ่าน Ecosystem ของธนาคาร เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอสินค้า พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อสามารถใช้คะแนนบัตรเครดิตเพื่อช้อปปิ้งได้ด้วย
“แบงก์เราทำอีกเยอะ ตอนนี้เพิ่งทำได้แค่ 1 จาก 10 เท่านั้น เพราะตลาดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อคนคิดไม่หยุด เราต้องคิดต่อไป และออกฟีเจอร์ บริการใหม่ที่เข้าไปอยู่ในชีวิตลูกค้าทุกกลุ่มได้ต่อเนื่อง”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา