ในยุคที่วงการค้าปลีกกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากสารพัดทิศทาง การเปิดร้านกาแฟถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่โหดร้าย เพราะเอาเข้าจริงแทบจะไม่ต่างอะไรกับธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ที่ 90% ของธุรกิจล้มหายตายจากอยู่ตลอดเวลา
แต่ก็อย่างที่สุภาษิตจีนว่าไว้ “ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ” Class Cafe แบรนด์กาแฟท้องถิ่นไทยจากภาคอีสานที่เริ่มโดดเด่นขึ้นทุกวัน ปัจจุบันมีสาขารวมแล้วกว่า 22 แห่งทั่วไทย (กรุงเทพ, โคราช, ขอนแก่น, บุรีรัมย์ และอุดรธานี)
Brand Inside สัมภาษณ์ มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Class Cafe เขาคือผู้ซึ่งเชื่อว่า “ค้าปลีกอยู่ในรายละเอียด” เพราะการสู้ในสนามรบค้าปลีกจะประมาทไม่ได้ และยิ่งโดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟที่ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีการเปิด-ปิดกิจการอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นสภาวะ “เพื่อนเก่าตาย เพื่อนใหม่มา”
คำถามก็คือ Class Cafe มองเกมค้าปลีกในโลกยุคใหม่อย่างไร ตามอ่านกันได้ในบทความนี้
ค้าปลีกยุคใหม่ต้องใช้ Data
ถ้าพูดถึง Class Cafe ร้านกาแฟแบรนด์ไทยที่เติบโตมาจากการขยายตลาดในภาคอีสาน เชื่อว่าหลายคนนอกจากจะนึกถึง “กาแฟ” ที่เป็นสินค้าหลักของ Class Cafe ที่ใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์แปลกๆ จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์จากเอธิโอเปียหรือบราซิลแล้ว ชื่อของ Class Cafe ก็ยังทำให้นึกถึงเรื่องของ Data เทคโนโลยี และความเป็น Co-Working Space ด้วย
ไม่แปลก เพราะมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้ง Class Cafe มีพื้นเพการทำงานจากสายเทคโนโลยี ก่อนหน้าที่เขาจะมาก่อตั้งร้านกาแฟ เขาเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Hutch, Nokia Thailand และรวมถึงเคยดูแลธุรกิจออนไลน์ในเครือแกรมมี่มาก่อน
ดังนั้น เมื่อถามว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของ Class Cafe มารุตยอมรับว่า Data คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่ประเด็นสำคัญของ Data สำหรับ Class Cafe ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีเท่านั้น เนื่องจาก Data ที่ดีที่สุดมาจากมานุษยวิทยา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์แห่งการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์
“Class Cafe เวลาเราทำ Data เราไม่ได้มองเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะคนที่เก็บ Data ได้ดีที่สุดคือ บาริสต้า คือถ้าลูกค้ามาที่ร้านเรา 2-3 ครั้ง แต่บาริสต้าจำลูกค้าไม่ได้ก็ถือว่าแย่แล้ว” ผู้ก่อตั้ง Class Cafe กล่าวพร้อมบอกด้วยว่า “ที่ Class Cafe เราเทรนให้พนักงานของเราเก็บ Data จากการสังเกต เราต้องรู้เลยว่าลูกค้าคนนี้ชอบดื่มเมนูอะไร ชอบนั่งตรงส่วนไหนของร้าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี เพราะเขาจะรู้สึกเป็นคนพิเศษ”
ส่วนเรื่องเทคโนโลยีอย่าง Face Recognition ไปจนถึงการทำ Data analytics หรือ Data mining ถ้าถามว่าที่ Class Cafe มีหรือไม่ มารุตบอกว่า “มีแน่นอน เรามีทั้งที่ทำแล้วและกำลังจะทำในอนาคต แต่การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในร้านของ Class Cafe เรามีปรัญชาอยู่เรื่องหนึ่งคือ เทคโนโลยีต้องทำให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้น การเอาเทคโนโลยีล้ำๆ มาใส่ในร้านแบบเป็นการจัดโชว์หรือการแสดง นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำ เพราะมันไม่ใช่การใช้ชีวิตของคนทั่วไป ลูกค้าจะเกร็ง เราต้องการให้ร้านของเราเป็น Co-Living Space ไม่ใช่งานแสดงโชว์”
ในสายตาของมารุต เขามองว่าเทคโนโลยีสำคัญจริง แต่คนก็ยังสำคัญด้วย เพราะบางเรื่องใช้เทคโนโลยีแก้ได้ เช่นถ้ามีที่นั่งในร้านที่ลูกค้าไม่ค่อยไปนั่ง เราอาจกลับมาดูข้อมูลจากเทคโนโลยีว่าเป็นเพราะอะไร สุดท้ายเราได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ตรงนั้นร้อนเกินไป ทางแก้คือเอาม่านมาติด หลังจากนั้นลูกค้าก็มานั่ง แค่นี้ก็แก้ปัญหาได้ แต่บางเรื่องเราจำเป็นต้องใช้คน เพราะหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยียังทำแทนไม่ได้ทั้งหมด เช่นการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน เนื่องจากเทคโนโลยีทำหน้าที่ได้เพียงเก็บ Data แต่บาริสต้าสังเกตได้แถมยังตอบสนองลูกค้าได้ในเวลาเดียวกัน
- “เทคโนโลยีสำคัญ คนก็สำคัญ แต่ถึงที่สุดต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีซื้อได้ แต่มนุษยศาสตร์ซื้อไม่ได้“
New Retail ในมุมของ Class Cafe คือการเชื่อมต่อความเป็น Community
ยุคนี้ค้าปลีกต้อง New Retail แล้วในมุมของ Class Cafe มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
มารุต บอกว่า “จริงๆ มันเหมือนเป็นสิ่งที่เราทำมานานแล้วกับการเชื่อมต่อออนไลน์กับออฟไลน์ เราเลยไม่รู้เรียกว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดมันเรียกว่า New Retail หรือเปล่า”
New Retail ในความหมายของ Class Cafe หมายถึงการเชื่อมต่อกับวงการอื่นๆ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจาก “เรามองว่า Class Cafe คือการเดินทาง” ดังนั้นการเดินทางของเรา-เราจะเดินคนเดียวไม่ได้
“กาแฟมันเหมือนเป็น magic อย่างหนึ่ง ถ้าคุณคุยกับผมแบบไม่มีกาแฟ บรรยากาศจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าคุณคุยกับผมแบบมีกาแฟ บรรยากาศจะเปลี่ยนไปเลย กาแฟมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนมาเจอกันในแต่ละพื้นที่” มารุต เล่าให้ฟัง
ถึงวันนี้ Class Cafe จับมือกับหลายบริษัท หลายวงการ หลายอุตสาหกรรมเพื่อนำผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในเชิงพื้นที่และความสนใจมาไว้ด้วยกัน “Class Cafe รู้ดีว่าเราทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราจึงต้องร่วมมือกับคนอื่นๆ เพื่อใช้กาแฟเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อวิถีชีวิต (Lifestyle) และความรู้ (Knowledge) เข้าไว้ด้วยกัน”
ตัวอย่างบริษัทที่ Class Cafe จับมือแล้วได้แก่
- Air Asia ตอบโจทย์ผู้คนสายท่องเที่ยว ชอบเดินทาง
- แสนสิริ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ คนที่รักการออกแบบ ซึ่งสาขาที่ Brand Inside เข้าไปสัมภาษณ์คือสาขาล่าสุด ตั้งอยู่ที่ OKA HAUS พระราม 4 ทำให้ Class Cafe สาขานี้ยังได้ลูกค้าที่เป็นสายสื่อสารมวลชน (ช่อง 3) เข้ามาใช้บริการเป็น Co-Working Space คล้ายจะเหมือน Community ย่อมๆ
- นอกจากนั้นได้มีการจับมือกับวงการต่างๆ เช่น สถานศึกษา สถาบันด้านสุขภาพ หรือแม้กระทั่งคนสายบิ๊กไบค์ Class Cafe ก็เคยไปจับมือกับบุรีรัมย์มาแล้ว
ก้าวต่อไปของ Class Cafe
Class Cafe ปัจจุบันมี 22 สาขาทั่วประเทศ ในขณะที่เชนร้านกาแฟรายใหญ่สุดของไทยมีสาขาอยู่มากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าเทียบตัวเลขแค่นี้ดูเหมือนห่างกันมาก แต่มารุตวิเคราะห์มองว่าความเล็กมีความเร็วและข้อได้เปรียบหลายประการอยู่ในนั้น
“เราเล็กกว่า แต่เราแกร่งกว่า เพราะเรามี passion ในการทำ ทุกวันนี้เรายังตื่นเต้นเสมอที่จะได้ทำเรื่องใหม่ๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ เรามีแผนที่จะเปิดสาขาในภาคตะวันออก ศรีราชา ชลบุรี EEC เรามีแผนจะไปอุดรฯ ขอนแก่น เราชอบการสร้าง impact มากๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างรายได้ (revenue) ให้กับเราด้วย” มารุตบอกพร้อมระบุชัดเลยว่า “ทุกๆ 6 เดือน เราจะขยายใหญ่ขึ้นตลอด ทั้งในแง่จำนวนสาขา ยอดขาย และพนักงาน นี่คือ economy of scale ที่เรามีความพร้อม เพราะอย่างที่บอกถ้าจะอยู่ในธุรกิจกาแฟ อย่าคิดแค่ร้านกาแฟเท่านั้น แต่ต้องคิดไปถึงการเป็นเชนร้านกาแฟด้วย”
ทั้งหมดนี้คือ Class Cafe แบรนด์กาแฟไทยที่น่าจับตามองขึ้นทุกวัน
- บทความน่าสนใจอ่านเพิ่มเติม เปิดประวัติ Class Cafe พลังร้านกาแฟต่างจังหวัด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา