คนรุ่นใหม่อาจคุ้นเคยชื่อแบรนด์ Garmin ว่าคือสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และการออกกำลังกาย แต่รู้หรือไม่จริงๆ แล้ว Garmin ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจด้วยสินค้าดังกล่าว เพราะเติบโตมาจาก GPS ที่ใช้บนเครื่องบิน
ครบรอบ 30 ปี และที่มาของแบรนด์คือชื่อผู้ก่อตั้ง
ถ้าจะเล่าถึงจุดกำเนิดของ Garmin ก็ต้องย้อนไปถึงปี 1989 (พ.ศ.2532) หรือ 30 ปีที่แล้ว เพราะตอนนั้น Gary Burrell และ Min Kao สองผู้ก่อตั้งของแบรนด์นั้นเห็นโอกาสในการทำตลาดอุปกรณ์ GPS แบบพกพาที่ใช้สำหรับเครื่องบิน จึงตัดสินใจลุยพัฒนาสินค้าตัวนี้เต็มที่
แต่เมื่อจะทำตลาดสินค้าสักตัวหนึ่ง เรื่องชื่อแบรนด์ก็จำเป็น ทั้งสองผู้ก่อตั้งจึงใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการนำชื่อพยางค์แรกของสองคนมารวมกันจนได้คำว่า Garmin นั่นเอง ซึ่งการทำตลาดในชื่อนี้ก็สร้างชื่อให้กับบริษัทอย่างมาก จนในปี 1998 (พ.ศ.2542) ก็เปิดตัวอุปกรณ์นำทางผ่าน GPS ที่ใช้กับรถยนต์ด้วย
และตอนนั้นเองทำให้ Garmin เป็นที่รู้จักในฝั่งผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น จากเดิมที่เน้นทำตลาดในระดับองค์เอกชน และหน่วยงานภาครัฐ จนกระทั่งปี 2008 (พ.ศ.2552) ก็สามารถจำหน่ายได้รวมกว่า 40 ล้านเครื่องทั่วโลก และกลายเป็นผู้นำในสินค้ากลุ่มอุปกรณ์นำทางรถยนต์ผ่าน GPS
ลดขนาด GPS ลงเรื่อยๆ จนมาใช้กับนาฬิกา
หลังได้รับความนิยมทั้งตัวอุปกรณ์ GPS ที่ใช้บนเครื่องบิน และรถยนต์ Garmin ก็ต้องการที่จะลดขนาดอุปกรณ์ตัวนี้ให้เล็กลง เพื่อทำตลาดอุปกรณ์ GPS ส่วนบุคคลที่พกพาไปไหนก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ค่อยสำเร็จนัก แต่จากความพยายามนี้บริษัทก็ได้เปิดตัว Forerunner 201 นาฬิกาออกกำลังกายที่มี GPS ตัวแรกของโลกในปี 2003 (พ.ศ.2546)
และสินค้าตัวนี้มันก็สร้างความแตกต่างให้กับตลาด และชี้ทางให้ Garmin บุกตลาด Wareable หรืออุปกรณ์สวมใส่เต็มรูปแบบหลังจากนั้น ผ่านการใส่นวัตกรรมใหม่ๆ เช่นการวัดอัตราเต้นของหัวใจ, วัดค่าออกซิเจน รวมถึงนาฬิกาที่ใช้สวมใส่เพื่อดำน้ำได้จริง
ล่าสุด Garmin ได้ยกระดับสินค้า Wareable ไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว MARQ นาฬิกาหรูที่ใช้วัสดุที่แตกต่าง รวมถึงฟีเจอร์ และฟังก์ชั่นภายในที่ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะทางได้ โดยแบ่งเป็น 5 รุ่นย่อยคือ Driver, Athlete, Captain, Aviator และ Expedition ราคาไม่เท่ากันในแต่ละรุ่น เริ่มต้น 55,990-92,990 บาท
การเติบโตที่ยั่งยืนของฝั่ง Wareable
“เราเห็นว่าลูกค้าต้องการ Wareable ที่ดูดีขึ้น และมีฟีเจอร์ กับฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขามากกว่าเดิม เราจึงใช้เวลาคิดนาน 3-4 ปี ส่วนชื่อ MARQ ก็มาจากฟังก์ชั่น Mark ที่ใช้ในเครื่อง GPS และ Q ก็มาจากคำว่า Marquis ที่แสดงถึงความหรูหรา” Brad Trenkle ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์กิจกรรมกลางแจ้งของ Garmin กล่าว
สำหรับ Garmin ปัจจุบันแบ่งธุรกิจเป็น 5 ประเภทด้วยกันประกอบด้วย Fitness หรืออุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ, Outdoor หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมกลางแจ้ง, Auto หรืออุปกรณ์ที่ใช้งานในรถยนต์, Aviation หรืออุปกรณ์ที่ใช้บนเครื่องบิน และ Marine หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในเรือ
ในปี 2018 (พ.ศ.2561) นั้น Garmin มีรายได้ทั้งหมด 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7% โดยในเอเชียนั้นเป็นพื้นที่ที่เติบโตรวดเร็ว และกลุ่มสินค้า Fitness คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดหรือ 26% แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดนี้ ส่วนเรื่องพนักงานของ Garmin นั้นทั่วโลกมีทั้งหมด 13,000 คน
สรุป
ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจำชื่อแบรนด์ Garmin ในเรื่องอุปกรณ์ GPS ที่ใช้ในรถยนต์ แต่ปัจจุบันถ้าพูดถึง Garmin ก็ต้องเป็นนาฬิกาออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ จึงไม่แปลกที่ยอดขายของ Garmin จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และต้องติดตามว่า Garmin จะเดินเกมธุรกิจในอนาคตอย่างไร เพื่อเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา