มุมมองทิศทางการลงทุนครึ่งปีหลัง 2562 จาก KBank Private Banking และ Lombard Odier

ครึ่งปีแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนสำคัญๆ  เช่น เรื่องของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ รวมไปถึงกรณีอย่างสหรัฐแบน Huawei การคงดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ฯลฯ ขณะเดียวกันภาพการลงทุนครึ่งหลังในปีนี้ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด  

Brand Inside พาไปฟังมุมมองจากผู้บริหาร KBank Private Banking และพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Lombard Odier ในมุมมองของการลงทุนครึ่งปีหลัง 

อย่าลืมว่าเรากำลังอยู่ใน Late Cycle

สำหรับมุมมองของ KBank Private Banking ได้สรุปว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ Late Cycle โดยสัญญาณที่ชัดสุดคือ การจ้างงานสหรัฐต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ปริมาณการค้าโลกในไตรมาส 1 เติบโตเพียง 0.4% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 

อย่างไรก็ดี Late Cycle ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะเข้าสูช่วงถดถอย แต่เพียงแค่อัตราขยายตัวชะลอตัวลง เพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ลดลง ขณะที่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่สัญญาณจากธนาคารกลางไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป พร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

มร.สเตฟาน โมเนียร์

คาดสงครามการค้าจบไวสุดภายในสิ้นปีนี้

มร.สเตฟาน โมเนียร์ Chief Investment Officer Lombard Odier Private Bank ได้กล่าวว่า หลังจากที่มีการพบปะของ 2 ผู้นำในการประชุม G20 ที่เมืองโอซาก้า คือมีการกลับมาคุยกันใหม่อีกครั้ง โดย Lombard Odier มองว่าในระยะสั้นๆ นี้ยังคงไม่มีความชัดเจนเรื่องของสงครามการค้า อย่างไรก็ดี Lombard Odier มองว่า ความน่าจะเป็น ในการเจรจาการค้าและบรรลุข้อตกลง นั้นคิดว่าภายในสิ้นปีนี้ หรือ ช้าสุดในต้นปีหน้า สูงถึง 70-80% 

เหตุที่ต้องเจรจาและบรรลุข้อตกลง เพราะไม่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะจีน เศรษฐกิจจีนไม่ดี ส่งออกไม่ได้  เพราะจีนยังอยากให้จีนเองส่งออกได้ และจีนยังคงอยากที่จะให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเติบโตไปได้อยู่

ขณะเดียวกันสหรัฐก็เจ็บตัวไม่น้อย เนื่องจากเกษตรกรของสหรัฐก็เดือดร้อน ผลผลิตทางเกษตรไม่สามารถขายได้  ขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามที่จะจบเกมเจรจาให้ได้เพื่อหวังผลทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020

นอกจากนี้คาดว่าความล้มเหลวในการเจรจาจะมีประมาณ 20-30% ซึ่ง Lombard Odier เป็นห่วงคือการค้าทั่วโลกมีปริมาณลดลง ทำให้โอกาสให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 อาจมีเพิ่มขึ้น 

ตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงไทยจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้

มร.โฮมิน ลี Head of Portfolio Solutions, Asia and Asia Macro Strategist, Lombard Odier มีมุมมองว่า ในระยะกลางกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ EM จะได้ประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง จะส่งผลให้หุ้นในประเทศเกิดใหม่ได้ผลดี เพราะจะเกิดการหาผลตอบแทนที่ดี (Search for yield) โดยเฉพาะในเอเชียอย่างเช่น ประเทศไทย จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน 

ขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศอย่าง แอฟริกาใต้ ก็ได้ประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเช่นกัน เช่น กำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น โดย Lombard Odier ได้แนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม EM โดยเน้นไปที่หุ้นกู้ แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นขนาดเล็กในกลุ่ม EM

มร.โฮมิน ลี

ค่าเงินบาทแข็งอาจไม่ใช่เรื่องที่แย่

มร.โฮมิน ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งขึ้นนั้นแย่กับเศรษฐกิจไทยหรือไม่ เขาได้ให้ความเห็นว่า ถ้าหากเงินบาทแข็งทำให้ผู้บริโภคไทยเราบริโภคได้มากขึ้น และทำให้มีการลงทุนได้มากขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ  ซึ่งอาจดีกว่าส่งออก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาปริมาณความต้องการสินค้าทั่วโลกช่วงนี้ลดลงด้วย 

นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นๆ ไทยยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดทีบวกเยอะมาก ประมาณ 6% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้สหรัฐไม่ต้องจับตามองเรื่องค่าเงินบาทไทยเหมือนในอดีตที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนมาก ทำให้ส่งออกไปสหรัฐจนได้ดุลการค้า 

สำหรับการส่งออกของไทย มร.โฮมิน ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการไทย ส่งออกสินค้าไปประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ ฯลฯ เพราะขณะที่ค่าเงินประเทศเหล่านี้แข็ง สามารถซื้อของจากประเทศไทยไ้ด้มากขึ้น 

การจัดพอร์ตการลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง

มร.สเตฟาน ยังได้กล่าวถึงการจัดพอร์ตการลงทุนว่า การจัดพอร์ตในครึ่งปีหลัง ต้องเป็นแบบกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนคือ 40% หุ้น 40% หุ้นกู้ โดยหลีกเลี่ยงพันธบัตรรัฐบาล เพราะมองว่าผลตอบแทนต่ำ แนะนำให้หลีกเลี่ยง นอกจากนี้ยังมองว่าบริษัทต่างๆ ยังดำเนินต่อไปได้ ขณะที่ 20% ที่เหลือเป็นการลงทุนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ สินทรัพย์อื่นๆ ฯลฯ อย่างไรก็ดี Lombard Odier มองว่าหลังจากนี้ยังไม่ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ เนื่องจากราคาแพงมากแล้ว 

ขณะเดียวกัน ถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา Lombard Odier ยังได้แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ รวมไปถึง ค่าเงินเยน 

นอกจากนี้ มร.สเตฟาน ยังได้แนะนำกลยุทธ์การลงทุน Long/Short เช่น การซื้อหุ้น Airbus เนื่องจากได้ประโยชน์จากจีนน่าจะซื้อเครื่องบิน ขณะเดียวกันให้ Short หุ้นกลุ่มยานยนต์ในยุโรป เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมเล่นงานกลุ่มยานยนต์ของยุโรป โดยลูกค้าของ KBank Private Banking อาจขอคำแนะนำจาก Relationship Manager ของท่านในการลงทุนประเภทนี้ได้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน

คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

ยังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ

คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ได้กล่าวว่าปัจจุบัน KBank Private Banking ได้มีผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ให้ลูกค้าลงทุนในการลงทุนทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัวและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย เช่น หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์  ที่พึ่งเปิดกองทุนไป 

โดย KBank Private Banking จะหากลยุทธ์อื่นๆ ในการลงทุนที่พยายามหลีกเลี่ยง และกระจายความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทุกระดับความเสี่ยง ความต้องการ และทุกวัฏจักรทางเศรษฐกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา