แบงก์นอกชี้เงินบาทอาจแข็งค่าแตะ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ-จับตามาตรการธปท.

วันนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากนี้บาทจะแข็งค่าขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?

ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทมีโอกาสแตะ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ชี้ FED ลดดอกเบี้ยนโยบาย

โฮมิน ลี นักกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคาร Lombard odier จากสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า หลังจากนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยช่วงสิ้นปี 2562 ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นอีก 2-3% หรือที่ระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ปัจจัยที่สนับสนุนให้ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น คือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%  ในปีนี้ระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย.2562 ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนที่ตลาดหุ้น และตราสารหนี้ฝั่งเอเชียรวมถึงไทยเพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่าที่สหรัฐ

อย่างไรก็ตามคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจาก FED ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

แบงก์ชาติออกมาตรการสกัดเงินร้อนไหลเข้าไทยอย่างไร?

ที่มา ธนาคารทหารไทย (TMB)

ในเดือนก.ค. 2562 ทางธปท. ประกาศลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นลงประมาณ 20,000 ล้านบาท (ปกติธปท.ต้องออกพันธบัตรทุกเดือนเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน) ซึ่งการลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นเป็นการลดอุปทานในตลาดลง แต่เมื่อนักลงทุนยังต้องการซื้อพันธบัตร (อุปสงค์เท่าเดิม) จะทำให้ราคาพันธบัตรที่ขายในตลาดรองจะปรับตัวสูงขึ้น และผลตอบแทนต่ำลงจนทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนพันธบัตรลดลง

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) บอกว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ามามากนัก เพราะต่างชาติจับตามองความเคลื่อนไหวอยู่

“รอบที่แล้วกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกามีรายงานประเทศคู่ค้า 9 ประเทศ ที่ถูกจับตามองในเรื่องของการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งไทยไม่ติดในรายชื่อนี้เพราะผ่าน 3 เงื่อนไขมาอย่างเฉียดฉิว เช่น ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ถ้าเกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐจะติดรายชื่อ) และทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ทั้งนี้หากไทยติดในรายชื่อการแทรกแซงค่าเงินอาจจะกระทบต่อ GSP กับสหรัฐ (สิทธิการลดภาษีนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐ) โดยมูลค่า GSP ที่เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาทจะกระทบการส่งออกไทยให้ลดลง 0.5% ของ GDP

อย่างไรก็ตามทางธปท.อาจเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เพื่อสกัดเงินร้อน หรือเงินลงทุนที่ไหลเข้าไทยแบบเร่งด่วนให้ชะลอลง เช่น

  • มาตรการบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ
  • มาตรการกำกับเพื่อลดความเสี่ยง
  • ภาษีเงินกำไรของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ เช่น การเก็บภาษีตราสารหนี้ 15% บนผลกำไรจากการลงทุนของเงินทุนต่างชาติ

สรุป

ค่าเงินบาทปี 2562 ผันผวนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ปีนี้ดูจะแข็งค่ากว่าปีก่อนๆ เพราะเมื่อบาทลงมาแตะ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี แต่การเคลื่อนไหวเงินบาทดูจะกำหนดได้ยาก เพราะต้องรอดูปัจจัยภายนอก เช่น การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐ การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก ไหนต้องจับตาเงินไหลเข้าตลาดหุ้นอีก ใครทำธุรกิจ หรือต้องรับเงินต่างชาติคงต้องวางแผนรับมือให้ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา