วิสัยทัศน์ผู้นำอินโดนีเซียสมัยที่ 2 “เร่งพัฒนาทักษะไอที เศรษฐกิจต้องดีขึ้นที่ 10 ของโลก”

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจอยู่อันดับที่ 16 ของโลก ส่วนแรงงานในประเทศก็ยังต้องการเสริมทักษะอีกไม่น้อย การให้สัมภาษณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้นำของเขาตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างท้าทายมากๆ

Joko Widodo
Joko Widodo Photo: Shutterstock

เศรษฐกิจต้องดี ทักษะไอทีต้องได้

ยืนยันแล้วว่า Joko Widodo จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนต่อไป โดยเขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในสมัยที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้ ล่าสุด Nikkei Asian Review สัมภาษณ์ Widodo ถึงวิสัยทัศน์ของการขับเคลื่อนประเทศ มีหลากหลายเรื่องสำคัญ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาทักษะไอทีให้กับผู้คนในประเทศ

  • แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะอยู่อันดับที่ 16 ของโลก แต่ Widodo บอกด้วยความมุ่งมั่นว่า “เป้าหมายของเรา คือการขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับ 10 ของโลกในปี 2030 และขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกให้ได้ในปี 2045”

อีกเรื่องคือทักษะของประชากรในประเทศที่ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ Widodo ได้สัญญาเรื่องการเร่งพัฒนาทักษะแรงงานไว้ตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง

ในการสัมภาษณ์ Widodo ย้ำว่ารัฐบาลของเขาจะเร่งพัฒนาทักษะไอทีให้กับคนอินโดนีเซีย เนื่องจากการพัฒนาทักษะไอทีจะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและพร้อมรับมือกับในโลกอนาคต และมากกว่านั้นยังจะเป็นการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มหาศาล และยิ่งโดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ที่อินโดนีเซียมีมูลค่าประมาณ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.2 แสนล้านบาท) ถือเป็นมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่าสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 2 ของภูมิภาคถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม ในสมัยแรกของ Widodo อินโดนีเซียมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นถึง 4 ตัว ได้แก่ Go-Jek, Traveloka, Tokopedia และ Bukalapak

เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียยิ่งใหญ่จริง แต่ทักษะของผู้คนในประเทศอาจไม่เติบโตตามกัน

ความเห็นของ David Sumual หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารเซ็นทรัลเอเชีย มองว่า “แรงงานของอินโดนีเซียในปัจจุบันถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมาก”

  • ดังนั้นสิ่งที่ Widodo บอกว่าจะทำคือ เขาจะใช้ในนโยบายการพัฒนาทักษะของประชากรโดยมุ่งมั่นว่าต้องการสร้าง “ทรัพยากรมนุษย์ระดับโลก” (world-class human resources) ให้เกิดขึ้นจริงในอินโดนีเซีย

อ้างอิงข้อมูล – Asian Nikkei Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา