SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.1% กรณีเลวร้ายสุดเหลือ 2.7% ผลจากส่งออกลดลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 3.1% จากเดิมที่ 3.3% หลังจากที่ตัวเลขส่งออกของไทยย่ำแย่กว่าคาด นอกจากนี้กรณีเลวร้ายที่สุดยังมองว่า GDP ไทยจะโตเพียงแค่ 2.7%

Bangkok Thailand
ภาพจาก Unsplash

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2019 เหลือขยายตัว 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 3.3% โดยมีสาเหตุหลักจากภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการค้าและการลงทุนของโลกที่ชะลอลงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Brand Inside รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จาก SCB EIC มาฝาก

เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้

SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2019 มีทิศทางชะลอลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน สาเหตุจากความรุนแรงของสงครามการค้าที่มีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าส่งออกของจีนและส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และยังรวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวมากขึ้นเนื่องจากภาวะสงครามการค้าและความไม่แน่นอนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นข้างต้นทำให้การส่งออกสินค้าในปีนี้มีแนวโน้มหดตัว นอกจากนี้สภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลทางลบต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีกด้วย

Thailand Export Chart 2019
ข้อมูลจาก SCB EIC

ยังมองว่านักท่องเที่ยวยังโตได้ถึง 4.8%

สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยนั้น SCB EIC ยังมองว่าในปีนี้ไทยน่าจะมีอัตรานักท่องเที่ยวโตถึง 4.8% หรืออยู่ที่ประมาณ 40.1 ล้านคน แต่ได้ปรับลดคาดการลงมาจากเดิมมองว่าโต 6.3% เนื่องจากนักท่องเที่ยวในช่วง 5 เดือนแรกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลทางลบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีกด้วย กล่าวคือ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่ามากขึ้น รวมไปถึงผลจากเงินบาทไทยมีลักษณะเป็นแหล่งพักเงิน จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

ขณะที่ความเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวในไทยนั้นประกอบไปด้วยถ้าหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นักท่องเที่ยวน่าจะมีจำนวนลดลงตาม รวมไปถึงค่าเงินบาทของไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สนามบินของไทยได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ของตัวสนามบินไปแล้ว

ข้อมูลจาก SCB EIC

กรณีเลวร้ายสุด GDP ไทยอาจโตเพียงแค่ 2.7%

SCB EIC ได้วิเคราะห์ความอ่อนไหวจากสมมติฐานหลักใน 3 กรณี (ตารางด้านบน) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3.1% ส่วนการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ -1.6% ซึ่งเป็นกรณีที่ดีที่สุด

กรณีเลวร้าย การส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงเพิ่มเติมมาอยู่ที่ -2.3% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนมีการชะลอลงตาม อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยจะอยู่ในรูปเงินโอนไปให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะให้เม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจได้เร็วที่สุด จึงทำให้การบริโภคภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับกรณีฐาน และกนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายใสเหลือ 1.5% คาดว่ากรณีเลวร้ายนี้ GDP ไทยจะโต 2.9%

กรณีเลวร้ายที่สุด การส่งออกสินค้าจะหดตัวมากถึง -3.1% โดยแม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติม แต่การขยายตัวของการ บริโภคภาคเอกชนก็จะลดลงจากรณีฐานเล็กน้อย เนื่องจากผลลบของการลดลงของภาคส่งออกมีมากกว่าผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทางด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะมีการปรับลดลงมาเหลือที่ 1.5% เช่นกัน ซึ่งโดยสรุปแล้วในกรณีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.7%

ข้อมูลจาก SCB EIC

มองว่ารัฐบาลน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยหากไม่รวมการ กระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคมีแนวโน้มที่ชะลอลงตามการหดตัวของภาคส่งออก และยังอาจส่งผลต่อเนื่องถึงระดับการจ้างงานและรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจกลุ่มดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจึงทำให้ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการและการลดหย่อนภาษีในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ SCB EIC ยังคาดว่ารัฐบาลใหม่จะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2019 จะขยายตัวได้ดีแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า

ที่มา SCB EIC

มอง กนง. ไม่ลดดอกยกเว้นเศรษฐกิจแย่กว่าคาด / บาทน่าจะแข็งต่อ

สำหรับนโยบายด้านการเงิน SCB EIC มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่อยู่ที่ 1.75% ในปี 2019 ควบคู่กับการใช้มาตรการเฉพาะจุด เพื่อดูแลปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเห็นได้จาก การประชุมครั้งล่าสุด กนง. ยังส่งสัญญาณค่อนข้างแข็งกร้าว โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงชั่วคราวในปีนี้ก่อนจะเร่งตัวขึ้นในปีหน้า ตลอดจนยังคงแสดงความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นและการประเมินความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำเกินไป

อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยปี 2019 ชะลอลงมากกว่าที่คาดและขยายตัวต่ำกว่า 3% กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงปลายปีนี้เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับค่าเงินบาทจะยังจะแข็งค่าต่อไปเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารหลักและธนาคารกลางในภูมิภาค และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลสูง ตลอดจนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเป็นช่วง ๆ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปี

ข้อมูลจาก SCB EIC

ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีทั้งปัจจัยเสี่ยงภายนอกและปัจจัยเสี่ยงภายใน โดยปัจจัยเสี่ยงภายนอกนั้นประกอบไปด้วยเรื่องสำคัญ ได้แก่

  • ความรุนแรงของสงครามการค้าที่อาจเพิ่มระดับมากขึ้นในอนาคต
  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจมีมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน
  • การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในมาจากความไม่แน่นอนด้านการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้รัฐสภาจะมีมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า อาทิ เสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลใหม่ และยังรวมไปถึงความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐ

ที่มาSCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ