เปิดอีกหนึ่งมุมมองความคิดของนักการตลาดมือหนึ่งของแบรนด์ Bar B Q Plaza กับการทดลองใช้ OKR กับชีวิตตัวเอง แถมยังเป็น “คนบ้าเป้า” ทุกอย่างในชีวิตต้องมีเป้าหมาย!
เริ่มทำ OKR ส่วนตัว ใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง
เชื่อว่าทุกคนในแวดวงการตลาด หรือผู้บริโภคทั่วไปต้องรู้จักกับแบรนด์ Bar B Q Plaza ขึ้นชื่อว่ามีแคมเปญการตลาดเจ๋งๆ อยู่ตลอด อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีลูกค้าจงรักภักดีกับแบรนด์มาก สังเกตได้จากเวลาแบรนด์เกิดวิกฤติ ก็จะมีแฟนๆ คอยปกป้องอยู่เสมอ
เบื้องหลังการตลาดของ Bar B Q Plaza คงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นคีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Bar B Q Plaza กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
บุณย์ญานุชได้อยู่ในครอบครัวของ Bar B Q Plaza มา 6 ปีแล้ว หลายคนคงเคยได้อ่านบทสัมภาษณ์ถึงตัวตน หรือแนวคิดทางการตลาดของบุณย์ญานุชมาพอสมควร Brand Inside จึงขอพาทุกคนไปเปิดอีกหนึ่งมุมมองในเรื่องแนวคิดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนบ้าเป้า หรือการใช้ OKR กับชีวิตตัวเอง รวมถึงการแบ่งเวลาในชีวิตประจำวันอย่างไร ต้องไปร่วมกันหาคำตอบ!
ด้วยความที่บุณย์ญานุชเป็นคนที่บ้าเป้าหมายทุกอย่างในชีวิต ตอนนี้จึงอินกับ OKR เป็นพิเศษ OKR หรือ Objectives & Key Results เป็นแนวคิดเรื่องการตั้งเป้าหมายในการทำงาน มีหลายองค์ที่เริ่มใช้แนวคิดนี้ ทาง Wongnai ก็มีการใช้ OKR เช่นกัน
แต่สิ่งที่บุณย์ญานุชทำนั้นคือการเริ่มทดลองทำ OKR กับตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายไปที่ทีมของตัวเอง แต่มองว่าคงไม่สามารถปรับใช้ทั้งองค์กรได้ ต้องขึ้นอยู่กับผลตอบรับที่ได้
บุณย์ญานุชได้เริ่มนำ OKR มาปรับใช้กับตัวเองตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจ OKR ก็คือได้ฟังเรื่องการพูดคุยเรื่อง OKR ของหลายๆ แต่ “โบ๊ท-ไผท ผดุงถิ่น”เป็นคนจุดประกายการปรับใช้ OKR เป็นพิเศษ ไผทเป็นคนในวงการเทค สตาร์ทอัพ เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด หรือ BUILK แพลตฟอร์มสำหรับวงการก่อสร้างไทย
“จุดเริ่มต้นจากการได้ฟังเรื่อง OKR ของหลายๆ คน เห็นว่าการปรับ OKR มีหลายวิธี ไม่ใช่แค่มองว่าเจ๋งแล้วไปเอามาใช้ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องปรับให้เข้ากับองค์กรให้ได้ สร้างความเชื่อให้ได้ ที่สำคัญคือตัวผู้นำต้องเปลี่ยนก่อน จึงสนใจที่เริ่มทำ OKR กับตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นหนูทดลองก่อนที่จะไปลองกับคนอื่น ลองตัดเป้าหมายตัวเองเป็น 3 เดือน แล้วดูผลตอบรับ”
เหตุผลที่ต้องปรับใช้ OKR กับตัวเองก่อนนั้น บุณย์ญานุชมองว่าถ้าผู้นำจะเอาเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร ต้องได้เริ่มลองทำเองก่อน ต้องมีความเชื่อก่อน จะเห็นว่าปัญหาใหญ่ๆ ขององค์กรใหญ่ๆ บางแห่งก็คือเจ้าของไม่มีความเชื่อ ไม่เปิดรับอะไรใหม่ๆ เลยยากที่จะทำให้ลูกน้องเชื่อได้
ใช้ชีวิตแบบ 1 ปีมี 3 เดือน
รูปแบบของแนวคิด OKR จะเน้นที่เรื่องการกำหนดเป้าหมาย และผลลัพธ์ ส่วนใหญ่จะมีการปรับใช้กับองค์กรสตาร์ทอัพที่เน้นความคล่องตัว การกำนด OKR ส่วนใหญ่จึงเป็นเวลาสั้นๆ ทุก 1 ไตรมาส หรือทุก 3 เดือน จะแตกต่างจากการวัดผลแบบ KPI ที่เน้นเป็นรายปี
เมื่อบุณย์ญานุชได้ปรับใช้ OKR กับชีวิตส่วนตัว เหมือนเป็นการตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองสั้นลง หรือเรียกเป็นภาษาส่วนตัวว่า 1 ปีของบุณย์ญานุชมี 3 เดือนเท่านั้น และไม่ได้ใช้แค่การทำงาน แต่ใช้ให้อยู่ในไลฟ์สไตล์ทุกด้าน
“เราทำการย่อย OKR ให้เป็นภาษาของเราเอง คิดว่าจะเกิดอะไรถ้า 1 ปีของคนเรามีแค่ 3 เดือน เลยตั้งเป้าชีวิตในทุกๆ ไตรมาส พอคนพูดแค่ว่า OKR ใช้ในการทำงาน แต่เราทำให้มันเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ไปในเรื่องส่วนตัวทุกอย่าง พอจบ 3 เดือนก็จะเริ่มคิดแล้วว่าปีใหม่จะทำอะไร”
หลักการตั้ง OKR ใช้ชีวิต1 ปีมี 3 เดือนฉบับบุณย์ญานุช เริ่มจากการตั้ง Balanced Scorecards ชีวิต เน้นเรื่อง 4 Pillar หรือ 4 เสาในชีวิต ได้แก่ Family Life, Work Life, Social Life และ Personal Life นั่นคือชีวิตครอบครัว การทำงาน การเข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว
“พอครบ 3 เดือนก็จะเริ่มปีใหม่แต่ละปี จะเริ่มตั้งเป้าหมายทั้ง 4 เสาชีวิต ควรมีเป้าหมายชัดเจนไม่เกิน 3 ข้อ เช่น เป้าหมายเรื่องงานจะมีอะไรบ้าง 3 ข้อ เป้าหมายเรื่องครอบครัวจะทำอะไรบ้าง 3 ข้อ แล้วก็ทำให้สำเร็จ”
ใช้ชีวิตบ้าเป้าหมาย ไม่ใช่สายเรื่อยเปื่อย!
การทำ OKR เป็นส่วนหนึ่งของคาแร็คเตอร์ส่วนตัวที่เป็นคนบ้าเป้าหมายในชีวิตมาก ไม่ใช่แค่เป้าหมายในการทำงานอย่างเดียว แต่เป็นเป้าหมายทุกอย่างในชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะทุกอย่างต้องมีเป้าหมายในการท้าทายตัวเอง ไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ
“การที่ตัวเองบ้าเป้าหมายมีทั้งสนุก และกดดันด้วย แต่ก็ได้สนุกกับมันไปด้วย ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีเป้าหมายไม่ได้ จะคิดตลอดว่าเป็นอย่างไรต่อบ้าง บางคนจะมองว่าจะ Challenge ตัวเองไปถึงไหน แต่การมีเป้าหมายทำให้การพยายามมีความหมาย เราไม่ใช่สายเดินเรื่อยเปื่อยอยู่แล้ว”
หลังจากที่เริ่มเอาตัวเองเป็นหนูทดลองในการทำ OKR ตอนนี้บุณย์ญานุชเริ่มปล่อยแนวคิด OKR ไปบางทีมบางแล้ว แต่คงไม่มีการปรับใช้ทั้งองค์กร เพราะบางแผนกก็ไม่เหมาะกับการใช้
“OKR ไม่ใช่ว่าจะทำทั้งองค์กรได้ ควรทำไปที่บางทีมก่อน ต่อให้มี OKR ก็ใช่ว่าจะยกเลิก KPI มันเป็นคนละโลกกัน KPI เป็นเรื่องของการวัดผล ส่วน OKR เป็นเรื่องของการตั้งเป้าหมายร่วมกัน หลังๆ เราเชื่อว่าความสำเร็จไม่ใช่มาจากทั้งองค์กร มันควรอยู่แค่บางกลุ่มที่ํประสบความสำเร็จ แล้วค่อยไปต่อ มองว่าจะทยอยไปฝั่งกลุ่มธุรกิจของบาร์บีคิว พลาซ่าก่อน”
แนวคิดการแบ่งเวลาในการใช้ชีวิต
ด้วยความที่บุณย์ญานุชเป็นคนบ้าเป้าหมายหนักมาก จึงเป็นคนมีตารางชีวิตตัวเองแบบชัดเจนว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นเรื่อง Commitment มีด้วยกัน 5 เรื่อง ได้แก่
- Commit to Myself เป็นพวกบ้าเป้า คนเราต้องมีกำหนดเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้
- Communicate to Other ต้องแหกปากออกไปให้คนอื่นรู้ถึงเป้าหมาย เช่น บอกคนอื่นว่าเย็นนี้จะวิ่ง 10 กิโลเมตร หรือบอกกับทีมถึงเป้าหมายที่จะทำร่วมกัน
- Closely Monitor จดจ่อกับเป้าหมายนั้นๆ ทั้งมุมตัวเอง และทีมงาน
- Can Do Attitude ทั้งหมดทั้งมวลต้องเริ่มจากทัศนคติที่ดีก่อน
- Celebrate Together เมื่อถึงเป้าหมายก็ต้องมีโอกาสที่ได้พักเพื่อฉลองแล้วไปต่อ
การปรับใช้ OKR ของบุณย์ญานุชถือว่าน่าสนใจไม่น้อย หลายคนจะมองว่า OKR จะต้องจำกัดอยู่แต่ชีวิตการทำงาน แต่การปรับให้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายขึ้นได้
ใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้วอยากลองใช้ไอเดียนี้ก็ไม่ว่ากัน ลองใช้แนวคิด 1 ปี มี 3 เดือนแบบฉบับบุณย์ญานุชดูก็ได้…
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา