3 เรื่องที่ต้องรู้จากการประชุมรมต. คลัง G20 สงครามการค้า ปฏิรูป WTO เก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยี

3 ประเด็นสำคัญที่คุณต้องรู้ในการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังรวมไปถึงผู้ว่าการธนาคารกลางของแต่ละประเทศในการประชุม G20 ที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

G20 finance ministers meeting 2019
ภาพจาก กระทรวงการคลังญี่ปุ่น

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศทางเศรษฐกิจ หรือ G20 ในปีนี้นั้นจัดในประเทศญี่ปุ่น โดยกระจายไปในเมืองต่างๆ ของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมรัฐมนตรีและผู้นำตามเมืองต่างๆ โดยสำหรับการประชุมรัฐมนตรีการคลังรวมไปถึงผู้ว่าการธนาคารกลางนั้นจัดขึ้นที่เมืองฟุกุโอกะ เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายนที่ผ่านมา และสำหรับการประชุมผู้นำของแต่ละประเทศจะจัดที่เมืองโอซาก้าในช่วงสิ้นเดือนนี้

กลุ่ม G20 ก่อตั้งในปี 1999 ประกอบไปด้วยประเทศทั้ง 19 ประเทศรวมกับสหภาพยุโรป ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี โดยขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม G20 คิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจโลก

การประชุมครั้งนี้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางที่ได้รับเชิญเป็นผู้สังเกตุการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย

Brand Inside รวบรวม 3 ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้มาฝาก

เรื่องของสงครามการค้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีมุมมองตรงกันว่า สงครามการค้าของสหรัฐและประเทศจีนได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างงัดเครื่องมือออกมาใช้ตอบโต้ หลังจากที่สหรัฐได้เปิดฉากขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่สหรัฐกล่าวหาว่าจีนล้มโต๊ะการเจรจาก่อน

มุมมองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังยืนยันในแถลงการณ์ของกลุ่ม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาในปีที่ผ่านมาถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางในช่วงปลายปี 2019 จนถึงปี 2020

นอกจากนี้มุมมองของ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ยังคงมุมมองว่า สงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย และเธอยังได้กล่าวว่ากลุ่มประเทศ G20 ควรจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้เป็นอันดับแรก และป้องกันการเกิดสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นภายในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีหลายๆ ประเทศจะพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ผ่านการประชุม แต่แถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมครั้งนี้กลับถูกสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ตัดข้อความในการแก้ไขปัญหาเรื่องสงครามการค้าออกไป แม้ว่าประเทศอื่นๆ ต้องการที่จะให้ 2 มหาอำนาจนี้กลับมาสู่การเจรจากันให้ได้

แต่ก็ยังมีข่าวดีเล็กๆ ที่ว่า สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้พูดคุยกับ อี้ กัง ประธานธนาคารกลางจีน ซึ่งมีประเด็นการค้าอยู่ในการพูดคุยนอกรอบด้วยก่อนที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงสิ้นเดือนนี้

Container Port Shipping ส่งออกสินค้า การค้า
ภาพจาก Unsplash

การปฏิรูปองค์การการค้าโลก

นับตั้งแต่สงครามการค้าได้ปะทุขึ้นมา ประเทศต่างๆ หวังว่ากระบวนการขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จะสามารถที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหวางสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนได้ อย่างไรก็ดีสมาชิกของกลุ่ม G20 และยังส่วนใหญ่ยังเป็นสมาชิก WTO เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นมีมุมมองว่า WTO ควรถึงเวลาที่จะปฏิรูปองค์กรได้แล้ว จากปัญหาข้อขัดแย้งทางการค้าของ 2 มหาอำนาจเนื่องจากความล้าสมัยของ WTO เอง

การประชุมของกลุ่ม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาที่ผ่านมามีมุมมองว่า WTO ควรที่จะมีการปฏิรูปเนื่องจากปัจจุบันกฎเกณฑ์ต่างๆ ล้าสมัยไปมาก โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงขั้นตอนระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

ปัญหาที่คาราคาซังมาโดยตลอดของ WTO คือการตีความกฎเกณฑ์ระหว่างการเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะบางประเทศ เช่น จีน นั้นจะใช้ความได้เปรียบจากกฏของ WTO มองว่าจีนนั้นเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเทศอื่นกลับมองว่าจีนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำ ทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบจากกฎต่างๆ ของ WTO เอง

ขณะเดียวกันนั้นประเทศจีนได้พยายามที่จะให้ WTO ยกระดับการค้าแบบพหุภาคี (การเจรจาการค้าแบบกลุ่ม) ขึ้นมาให้มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจีนพยายามที่จะแก้เกมของสหรัฐที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหม่ๆ ที่ท้าทาย WTO เอง เช่น เรื่องของ E-commerce หรือแม้แต่ปัญหาการอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาในการเจรจาที่คาราคาซังมาจากประเทศกาตาร์มาแล้ว เป็นต้น ฯลฯ

ภาพจาก Shutterstock

การเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยี

ปัญหาของประเทศต่างๆ ในกลุ่ม G20 คือความพยายามที่จะเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Google Amazon รวมไปถึง Apple โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ที่พยายามจะเก็บภาษีบริษัทเหล่านี้แต่ท้าทยที่สุดก็ไม่สามารถเก็บได้ และพยายามที่จะหาทางเก็บภาษีให้ได้ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่มีความพยายามจะเก็บภาษี 2% ถึง 6% ของรายได้รวมที่บริษัทเหล่าสร้างรายได้ในทวีปยุโรป

โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้มักใช้บริษัทที่ประเทศไอร์แลนด์หรือลักเซมเบิร์กที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เก็บรายได้จากผู้ใช้ ทำให้สหภาพยุโรปสูญเสียรายได้จากภาษีเหล่านี้สูงถึงหลักพันล้านยูโรในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานมานี้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐกำลังโดนศึกหนักจากการที่รัฐบาลสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงยุติธรรม หรือ DOJ รวมไปถึงคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ หรือ FTC ตรวจสอบว่าบริษัทเหล่านี้ผูกขาดหรือไม่ นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้มักโดนกรรมาธิการจากทวีปยุโรปสอบสวนเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผูกขาดที่มีคดีคาราคาซัง โดยเฉพาะ Google

เรื่องของการเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากอังกฤษ ญี่ปุ่น รวมไปถึงฝรั่งเศส นอกจากนี้กลุ่มประเทศในยุโรปเชื่อว่าไม่เพียงแค่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่จะจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป แต่รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ ถ้าหากบริษัทเหล่านี้โดนบังคับเสียภาษีอย่างจริงจัง

โดยประเทศต่างๆ ในกลุ่มเห็นชอบเรื่องการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยี และป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้หาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงในการจ่ายภาษี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ