ตอนนี้องค์กรขนาดใหญ่ของประเทศไทยเริ่มมองการทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น เพราะด้วยตัวธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตน้อยกว่าช่วงแรกพอสมควร ทำให้การขยายไปต่างประเทศด้วยวิธีต่างๆ จึงกลายเป็นอีกหนทางที่บริษัทจะเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ถึงบุกต่างประเทศด้วยโมเดลธุรกิจดีแค่ไหน หลายบริษัทก็เคยพลาดกลับมาแล้ว
อย่างมัวคิดเรื่องโมเดล ให้มอง HR ควบคู่ไปด้วย
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์บริหารความเสี่ยง เล่าให้ฟังว่า ในปี 2557 องค์กรขนาดใหญ่ในไทยเริ่มขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศจำนวนมาก เพราะโอกาสทางธุรกิจเริ่มเล็กลง ซึ่งส่วนใหญ่จะขยายไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในรูปแบบตั้งสำนักงานด้วยตนเอง หรือซื้อพร้อมควบรวมกิจการ (M&A) คิดเป็นมูลค่าลงทุนในต่างประเทศกว่า 4,000 ล้านดอลลาส์สหรัฐ (ราว 1.4 แสนล้านบาท) ซึ่งปี 2560 ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดิม
แต่องค์กรต่างๆ ที่ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศก็มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว เพราะมองแต่เรื่องการทำธุรกิจ รวมถึงผลกำไรที่ได้จากการไปลงทุน แต่กลับลืมเรื่องวัฒนธรรมองค์กร กับพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอื่น ทำให้เมื่อเกิดการจ้างงานนอกประเทศขึ้น บริษัทก็ไม่สามารถเดินต่อได้อย่างยั่งยืน และกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจแทน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรณ์บุคคล ควบคู่ไปกับแผนธุรกิจจึงจำเป็น เพื่อข้ามขีดจำกัดของความหลากหลายภายในองค์กรไปให้ได้
ถ้าเลือก M&A อย่าลืม Diligence กับ HR ด้วย
“จากนี้จะเห็นการ M&A ระหว่างองค์กรไทย กับองค์กรต่างประเทศมากขึ้นแน่นอน เพราะเป็นวิธีสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่บริษัทมีเงินทุนสะสมเพื่อที่ไปควบรวมกิจการ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรทั้งสองบริษัทไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะดูแค่เรื่องทรัพย์สินหนี้สินอย่างเดียวคงไม่ได้ การทำ HR Due Diligence ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้การควบควมกิจการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เกิดเหตุการณ์ควบรวมกิจการแล้วทำงานด้วยกันไม่ได้”
ขณะเดียวกันการวางแผน Culture Alignment หรือการวางแผนวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน ประกอบกับสร้างภาวะผู้นำให้กับผู้บังคับบัญชา หรือ Leadership ก็ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน ส่วนในกรณีไปตั้งบริษัทที่ต่างประเทศด้วยตนเอง องค์กรต่างๆ ก็ยังเจอปัญหาทางวัฒนธรรมเช่นเดิม อาทิภาษา และการใช้ชีวิต ดังนั้นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องทรัพยากรณ์บุคคล ประกอบกับแผนในการขยายธุรกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเรื่องโมเดลธุรกิจ องค์กรไทยสามารถนำตัวอย่างจากญี่ปุ่น และจีนที่เคยขยายมาปรับใช้ได้
ไปต่างประเทศไม่ง่าย ต้องอ่านเกมให้ดี
นุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ย้ำว่า การขยายไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่คิดกันภายในวันเดียว เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง รวมถึงการออกไปต่างประเทศยังมีหลากหลายวิธี เช่น Joint Venture, หาพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน และการเข้าไปทำธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ และด้วยบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัยที่มีความเสี่ยงค่อนข่างสูง จึงต้องวางแผนให้ดี โดยหลังจากนี้มีแผนในการไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมา แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้
ทั้งนี้ ไทยสมุทรประกันชีวิต เริ่มมีการวางแผนเรื่องทรัพยากรณ์บุคคลอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งฝั่งปฏิบัติการ และบริหารภายในบริษัท รวมถึงตัวแทนประกันที่เป็นผู้หารายได้ให้บริษัท เพราะพนักงานเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างธุรกิจให้เติบโตไดอย่างยั่งยืน
สรุป
ทรัพยากรณ์บุคคล หรือ HR อาจเป็นเรื่องที่หลายองค์กรลืมไปว่าสำคัญ เพราะมองเรื่องการเติบโตทางธุรกิจว่าสำคัญกว่า แต่จริงๆ แล้วเรื่องคนที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งตอนนี้มีปัจจัยเรื่องการบริหารคน Generation Y เข้ามาอีก ทำให้เรื่อง HR ในตอนนี้ไม่ใช่ง่ายๆ แต่หากใครบริหารได้ดี ก็จะได้เปรียบกว่าคู่แข่ง และต่อยอดไปถึงประสิทธิภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ดีกว่าด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา