มองภาพรวมค้าปลีกในเมืองไทย กับปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่อง เจอภัยคุกคามรอบด้าน ที่จริงแล้ววิกฤติกว่าต่างประเทศด้วยซ้ำไป แล้วผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร?
โตต่ำกว่า GDP ก็ส่อแวววิกฤติแล้ว
จากสถานการณ์วงการค้าปลีกที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ ต้องบอกว่าส่อแวววิกฤติกันในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะโซนสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่มีข่าวดราม่าถึงการปิดสาขายกใหญ่ ปรับลดพนักงาน หรือบางแห่งก็มีการแจ้งล้มละลาย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงตลาดค้าปลีกทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จากเดิมมีเพียงแค่ปัจจัยเรื่อง “ช้อปออนไลน์” เข้ามา กลายเป็นว่าตอนนี้มีหลายปัจจัยรอบด้าน
ถ้าถามว่าสถานการณ์แบบนี้สะท้อนอะไรถึงตลาดประเทศไทยบ้าง ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติอย่างในต่างประเทศหรือไม่ คนที่สามารถให้คำตอบที่ดีที่สุดก็คือ “วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่จะมีฉายภาพรวมค้าปลีกในประเทศไทย พร้อมทั้งยืนยันว่าถึงขั้น “วิกฤติ” แล้ว
ถ้ามองดูตลาดค้าปลีกไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่ต่ำกว่าปกติมาโดยตลอด ข้อสังเกตอันดับแรกก็คือตลาดค้าปลีกมีการเติบโตต่ำกว่า GDP นั่นคือผิดปกติแล้ว ตลาดค้าปลีกควรเติบโตสูงกว่า GDP ราวๆ 1-1.5% ยกตัวอย่างถ้า GDP ประเทศเติบโต 4% ตลาดค้าปลีกต้องเติบโต 5%
แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมา GDP เติบโตราว 4.0-4.2% แต่ภาคค้าปลีกมีการเติบโตเพียง 3.1% นั่นคือส่อแววไม่ปกติ และเข้าวิกฤติแล้ว
ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ค้าปลีกเราเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วรวุฒิได้สรุปมา 4 ข้อด้วยกัน
4 ปัจจัยที่ทำให้ค้าปลีกไทยไม่เติบโต
- โครงสร้างภาษีที่ไม่ถูกต้อง
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ยื่นข้อเสนอแก่ทางภาครัฐเรื่องภาษีสินค้า Luxury มาเป็นเวลานานแล้ว เพราะมองว่าไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว สามารถยกระดับเป็นประเทศช้อปปิ้งได้ สินค้า Luxury เป็นตัวแปรสำคัญ ในอดีตอาจจะมองว่าสินค้า Luxury เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องคนมีฐานะถึงจะซื้อได้เท่านั้น แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ไปแล้ว หลายคนใช้สินค้าแบรนด์เนมเป็นเรื่องปกติ
แต่ประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีของสินค้า Luxury 30-40% ทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่าต่างประเทศ เสียโอกาสทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวที่มาช้อปปิ้ง กลายเป็นว่าคนไทยที่จะซื้อสินค้าแบรนด์เนมก็หนีไปซื้อต่างประเทศ นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากซื้อที่ไทยอีกเพราะมีราคาแพง ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการช้อปปิ้งในส่วนนี้เยอะ
การที่ไทยมีภาษี 30-40% ถือว่ามีภาษีที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศแล้ว ตอนนี้มาเลเซีย และกัมพูชาได้ปรับลดแล้ว ยังคงมีแต่ประเทศไทยที่ยังคงภาษีสูงๆ
การที่ตั้งภาษีสูงๆ นั้น ก็ไม่ได้ทำให้รัฐได้จัดเก็บภาษีได้สูงๆ เลย เพราะพอสินค้ามีราคาแพง คนไทยก็ไม่ยอมซื้อ ก็ทำให้เก็บภาษีได้น้อยอยู่ดี ซึ่งปัจจุบันคนไทยที่ไปช้อปปิ้งต่างประเทศมีการเติบโต 20% ทุกปี
“เงินตราไปจ่ายให้ต่างชาติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็ไม่ซื้อ”
- เปิดให้คนไทยช้อปปิ้ง Duty Free
ประเด็นเรื่องของร้าน Duty Free หรือร้านปลอดภาษีก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดค้าปลีกโดยรวมอยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่า ในประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนไทยช้อปปิ้งใน Duty Free ได้ง่ายๆ
ซึ่งประเด็นนี้พบว่าในหลายๆ ประเทศได้เน้นไปที่ตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ในประเทศไทยเน้นทั้งตลาดคนไทยด้วย และนักท่องเที่ยวด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “กลายเป็นว่าให้ Duty Free แข่งกับ Duty Paid” นั่นคือห้างค้าปลีกที่จ่ายภาษีทั้งหมดก็เสียเปรียบห้างที่ไม่ต้องเสียภาษี เป็นสิ่งที่ทำให้ค้าปลีกไม่โตเท่าที่ควร
“เรื่องนี้เป็นอะไรที่แปลก ทำให้โครงสร้างค้าปลีกมีปัญหา”
- ตลาดมืด Grey Market
หลายคนจะมองว่าผู้ประกอบการค้าปลีกกลัวผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่นาทีนี้ถ้าไปถามผู้ประกอบการจริงๆ จะบอกว่าไม่ได้กลัวร้านค้าออนไลน์ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือร้านค้าออนไลน์ที่หนีภาษี
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ นั้น ร้านค้าออนไลน์ที่หนีภาษีก็คือพวก Grey Market หรือร้านพรีออเดอร์ในเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ร้านค้าพวกนี้ขายสินค้าโดยที่รับมาจากต่างประเทศโดยที่ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นผลพวงมาจากโครงสร้างภาษีสินค้า Luxury ที่สูงเกินไป จนทำให้คนไม่อยากซื้อสินค้าที่จ่ายภาษีถูกต้อง หันไปซื้อสินค้าใน Grey Market ที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลกระทบต่อวงการค้าปลีก
- รัฐไม่คุมยักษ์ใหญ่ออนไลน์ต่างชาติ
ถ้าบอกว่าไม่กลัวผู้เล่นค้าปลีกออนไลน์เลยก็คงไม่ได้เสียทีเดียว จะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้มียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยมากมาย และสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ต่างชาติเข้ามาก็คือทำสงครามโปรโมชั่นลดราคา เป็นเกมในการเผาเงินกัน
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าทางรัฐไม่ได้มีจัดการกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ถ้าย้อนกลับไปในอดีตถ้าเจอค้าปลีกขนาดยักษ์ใหญ่มีการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน ทางรัฐก็เข้าไปจัดการทันที เช่น ไปช่วยร้านโชว์ห่วย หรือร้านขายของชำ แต่พอเจอยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเข้ามาขายสินค้าต่ำกว่าทุน รัฐก็เฉยๆ ไม่ได้มีมาตรการใดๆ
“แบรนด์เหล่านี้พอเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ต่างประเทศ ก็ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องอีก”
ดูไม่วิกฤติ แต่จริงๆ วิกฤติกว่า
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่า เห็นสถานการณ์วิกฤติของค้าปลีกในต่างประเทศแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศไทยถือว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง
วรวุฒิบอกว่า พอค้าปลีกเราโตต่ำกว่า GDP ถือว่าวิกฤติแล้ว จริงๆ ไทยเจอวิกฤติหนักกว่าต่างประเทศเสียอีก ที่ต่างประเทศเจอภัยคุกคามจากช้อปออนไลน์อย่างเดียว แต่ไทยเจอภัยคุมคามหลายอย่างทั้งจากโครงสร้างภาษี, Duty Free, Grey Market และช้อปออนไลน์อีก
ถ้าให้ประเมินสถานการณ์ วรวุฒิก็ยังยังยืนยันว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาก็พบว่าสัญญาณยังไม่ดีขึ้น ถ้าโครงสร้างภาษียังไม่เปลี่ยน เรื่อง Duty Free หรือการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นเรื่องช้อปปิ้ง ยังมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ค้าปลีกไทยโตในระดับปกติได้ เพราะมันบิดเบือนไปจากโครงสร้างปกติ
ถ้าถามว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในวงการค้าปลีกจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ หรือไม่ ต้องตอบว่ากระทบแน่นอน เพราะภาคการค้าปลีกมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วน GDP ด้านการผลิต 16.1% เป็นอันดับ 2 รองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้การขยายตัวของภาคค้าปลีกค้าส่งนำการพัฒนาสู่จังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็น 16% ของการจ้างงานทั้งประเทศ
โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ภาคค้าปลีกมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกจากปี 2016-2018 อยู่ที่ประมาณ 130,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมาก และสูงกว่าการก่อสร้าง BTS มูลค่า 123,300 ล้านบาท หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz มูลค่า 76,000 ล้านบาทอีกด้วย
“เรียกได้ว่าค้าปลีกเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก ถ้ายังมีการเติบโตที่ต่ำอยู่ ผู้ประการหลายรายก็คงพิจารณาไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้ประเทศเสียประโยชน์ การจ้างแรงงานก็เสียประโยชน์ รวมไปถึงทำให้ธุรกิจผู้ผลิตก็ไม่เติบโต เพราะเวลาจะจำหน่ายสินค้า และบริการก็ต้องผ่านธุรกิจค้าปลีก มันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา