หลายคนที่เคยไปเที่ยวเชียงรายน่าจะรู้จัก “สิงห์ปาร์ค” แต่รู้หรือไม่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีอะไรมากกว่าแค่ความสวยงาม เพราะมันคือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจเชียงราย และวันนี้ Brand Inside จะมาอธิบายให้ฟัง
“สิงห์ปาร์ค” และการเติบโตที่ไม่หยุดยั้ง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า “สิงห์ปาร์ค” คืออีกฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจในเชียงราย เพราะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อวางจำหน่ายในไทย และส่งออกไปต่างประเทศ แต่กว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตัวสิงห์ปาร์ค เชียงราย คือบริษัทลูกของกลุ่มบุญรอดฯ ที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งบริษัทเองก็เดินตามแนวทางนี้ด้วย แต่แค่แตกต่างด้วยการวางตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน
“ในอดีตพื้นที่นี้ถูกใช้เป็นไร่ข้าวบาร์เลย์เพื่อนำมาใช้ผลิตเบียร์ ผ่านการนำพันธุ์จากยุโรปมาให้เกษตรกรช่วยเพาะปลูก จนสุดท้ายเราก็กลายเป็นผู้สนับสนุน 14 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และตอนนี้เราก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการผลิตสินค้าที่หลากหลาย และได้รับมาตรฐานต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในไทย และระดับโลก”
นวัตกรรมช่วยยกระดับสินค้าเกษตรมากมาย
ด้วยความเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้ “สิงห์ปาร์ค เชียงราย” ไม่ได้เน้นทำกำไร แต่เน้นสร้างสังคมที่ดี พร้อมสร้างความคึกคักในจังหวัดมากกว่า ในทางกลับกันทางบริษัทก็นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ มายกระดับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบสดที่หากส่งถึงมือผู้บริโภคไม่ทัน มันก็ไร้ค่า
“เราได้รับความร่วมมือจากสวทช. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเราด้วยนวัตกรรม จนเราได้มาตรฐาน ThaiGAP หรือ THAI Good Agricultural Practice นอกจากนี้เรายังพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเราให้ได้มาตรฐาน JGAP เพื่อส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่นได้ดีขึ้นเช่นกัน”
ดังนั้นปีนี้จะได้เห็นสินค้าเกษตรภายใต้แบรนด์ “บุญรอดฟาร์ม” (Boonrawd Farm) วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หรืออาหารแปรรูป รวมถึงการส่งออกในตลาดโลกก็จะมีมากขึ้น ทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจากับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยเพื่อนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปใช้เพื่อยกระดับโภชนาการของนักกีฬาด้วย
สินค้าไฮไลท์ปีนี้คือชาเขียวแบบญี่ปุ่นแท้ๆ
ส่วนสินค้าไฮไลท์ประจำปีนี้ของบุญรอดฟาร์มก็คือ “ชา” แต่ไม่ใช่ชาธรรมดา เพราะเป็นชาเขียวที่ใช้กระบวนการผลิตเหมือนกับของญี่ปุ่นทั้งหมด แต่ด้วยภาพรวมตลาดชาในประเทศไทยที่หดตัวเรื่อยๆ ประกอบกับคนไทยไม่ได้ดื่มชาแบบนำใบมาต้มชงเองเหมือนต่างประเทศ ทำให้วิธีการทำตลาดนั้นต้องปรับเปลี่ยนจากเดิม
“ต้องบอกว่าการจำหน่ายแค่ใบชานั้นไม่ตอบโจทย์คนไทยแน่นอน ประกอบกับตลาดนี้ก็มีแบรนด์ระดับโลกครองอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงเลือกนำ Know How ของบริษัทแม่ในการผลิตเครื่องดื่มมาใช้เพื่อยกระดับให้ตัวชาเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มง่าย และเหมาะสมกับการทำตลาดในประเทศไทยมากที่สุด”
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับชาก็มีทั้ง Cold Brew Tea หรือชาที่ใช้วิธีสกัดเย็นเพื่อตอบโจทย์คนไทยที่ชื่นชอบเครื่องดื่มเย็นมากกว่าร้อน นอกจากนี้ยังไม่ใช้เงินมหาศาลในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อ เพราะต้องการผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการจริง และบริษัทจะเน้นการให้ข้อมูลว่าดื่มชาแล้วจะช่วยเรื่องสุขภาพอย่างไรมากกว่า
Tea Solution กับอีกเป้าหมายสำคัญหลังจากนี้
การทำตลาดชาเขียวนั้น บุญรอดฟาร์มได้ร่วมกับ Maruzen บริษัทผลิตชาเขียวจาประเทศญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานกว่า 80 ปี เพื่อผลิตชาเขียวภายในแนวคิด Made Form Japan และด้วยการที่ปลุกในไทย ทำให้ต้นทุนสินค้าถูกกว่านำเข้า 20-30% จนตอบโจทย์การทำตลาดในระดับองค์กร เพราะ 85% ของยอดขายมาจากการทำตลาดแบบ B2B
“เร็วๆ นี้เราอาจเป็น Tea Solution ให้กับธุรกิจที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับชา เพราะบุญรอดฟาร์มผลิตชาได้ทุกรูปแบบ และคุมคุณภาพ, รสชาติ รวมถึงความยืดหยุ่นต่างๆ โดยสินค้าชาตอนนี้คิดเป็น 40% ของรายได้เรา อีก 40% เป็นรายได้จากการท่องเที่ยว, อาหาร และเครื่องดื่ม ส่วนที่เหลือก็มาจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ”
ทั้งนี้ภาพรวมการเติบโตของบุญรอดฟาร์มในปีนี้จะยังวางเป้า 25% เช่นเดิม แม้ช่วงต้นปีจะมีปัญหาฝุ่นมากระทบรายได้จากการท่องเที่ยว แต่การได้ธุรกิจอื่นๆ มาช่วย โดยเฉพาะตัวธุรกิจชาที่ปีนี้วางเป้าหมายมีรายได้จากฝั่งธุรกิจ B2C เพิ่มเป็น 30% และลดตัว B2B ลงมาเหลือ 70% แต่ยังเป็นแบรนด์ชาเบอร์หนึ่งที่ผลิตในไทยอย่างที่เคยเป็นมา
สรุป
การทำตลาดสินค้าเกษตรนั้นมีความท้าทายอย่างมาก เพราะมันมีโอกาสเสียหายได้สูงหากส่งถึงมือผู้รับไม่ทัน ดังนั้นการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับสินค้าประเภทนี้ขึ้นไปอีกขั้นก็จำเป็น ซึ่งทางบุญรอดฟาร์มก็ทำได้ค่อนข้างดี แถมยังเน้นเรื่องวิสาหกิจชุมชน ทำให้ทุกคนในเชียงราย และภาคเหนือตอนบนเติบโตไปพร้อมกันได้ด้วย
ดังนั้นคงต้องติดตามกันว่าก้าวต่อไปของบุญรอดฟาร์มจะเป็นอย่างไร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา