ทุกวันนี้องค์กรในตลาดหลักทรัพย์ถูกให้ทำกิจกรรม CSR หรือ Corporate Social Responsibility เพื่อคืนกำไรให้สังคมอยู่แล้ว องค์กรขนาดใหญ่ในไทย ทั้งบริษัทท้องถิ่นและต่างชาติ ต่างหันมาจริงจังกับเรื่องนี้เช่นกัน เป็นเพราะอะไรนั้น ต้องไปติดตามกัน
อยากสร้างการจดจำ CSR ช่วยได้
การทำกิจกรรม CSR นั้น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างแบรนด์ นอกจากการลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ หรือทำแคมเปญการตลาด เพราะเมื่อบริษัทใดๆ ก็ตาม นำกำไรที่ได้เข้าไปช่วยเหลือสังคม ย่อมมีโอกาสที่คนส่วนใหญ่ จะได้รับการจดจำแบรนด์ในเชิงบวก จากกลุ่มคนที่เข้าไปช่วยเหลือก็มีสูง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปช่วยกับฝั่งผู้บริโภคโดยตรง แต่การเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตทางอ้อม เช่น ทำกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ ก่อสร้างต่อเติมอาคารที่ทรุดโทรม บริจาคสิ่งของที่จำเป็น ล้วนแล้วแต่เสริมเรื่องภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน
ณัฐณี เกษมรัฐกุล หัวหน้าฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ และรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านขนมและของว่าง มองว่า องค์กรต่างๆ จะหันมาใส่ใจกับเรื่อง CSR มากขึ้น โดยเน้นไปที่กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และเสริมสร้างความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มใส่กับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการเข้าไปทำ CSR ในลักษณะช่วยเหลือที่เป็นระยะสั้นๆ อาจไม่ตอบโจทย์ในปี 2560
ดิจิทัลคือประเด็นใหม่ใน CSR
“อะไรๆ ในตอนนี้ก็ไปดิจิทัลกันทั้งหมด ดังนั้น CSR ก็ต้องตามเรื่องนี้ไปด้วย แต่จะให้ดีต้องให้พนักงานในบริษัทเข้าใจเรื่องดิจิทัลก่อน เช่นบริษัทเราก็มีการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบภายใน ทำให้พนักงานทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่รู้เรื่องดิจิทัลมากขึ้น ก่อนที่จะสร้างกิจกรรม CSR โดยมีเรื่องดิจิทัลมาประกอบเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่นการทำระบบการเรียนการสอนผ่อนออนไลน์ หรือการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น”
สำหรับ มอนเดลีซ จะใช้ 4 กลยุทธ์ในการทำ CSR คือ 1.Well – Being Snacks 2.Sustainability 3.Community 4.Safety พร้อมกับตั้งเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2563 เช่นส่วนผสมในขนมต่างๆ จะลด Sodium และไขมันอิ่มตัวลง 10% รวมถึงเพิ่มธัญพืช Wholegrain 10% นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเรื่องวัตถุดิบในการทำขนม เช่นช็อคโกแล็ตที่ใช้ต้องมาจากเกษตรกรรมแบบยั่งยืนทั้งหมด
เมื่อไทยไม่ใช่ฐานวัตถุดิบ จึงเน้นสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ด้วยประเทศไทยไม่ใช่ฐานในการซื้อวัตถุดับไปผลิตขนม เพื่อจำหน่ายทั่วโลก ทำให้ มอนเดลีซ ในไทยจึงเน้นการสร้างสุขภาพให้กับเด็กนักเรียน ผ่านโครงการ Joy School ที่ทำต่อเนื่องมา 4 ปี และมี 5 โรงเรียนที่บริษัทเข้าไปช่วยเหลือ คิดเป็นนักเรียนกว่า 1,300 คน ผ่านพนักงานบริษัทที่เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ราว 720 คน เช่นสนับสนุนอาหารเช้า และการให้ความรู้เรื่องโภชณาการที่ยั่งยืนกว่าแค่การทำกิจกรรมสั้นๆ
ส่วนในระดับโลก มอนเดลีซ มีนโยบาย Harmony Charter หรือกฎบัตรเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อวางมาตรฐานให้กับขนมที่ผลิตออกมาจำหน่าย โดยการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดราว 49 ข้อ เช่นการไม่ใช้แรงงานเด็ก หรือกดขี่ผู้หญิง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่เป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ ดังนั้นขนมทุกชิ้นที่ผลิตออกมา ไม่ใช่แค่ได้เรื่องสุขภาพ แต่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย
สรุป
มอนเดลีซ (Mondelez) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตขนมใหญ่ที่สุดในโลก เช่นคุกกี้ Oreo และ Ritz รวมถึงลูกอม Halls โดยในไทยนั้นมีโรงงานผลิต แต่วัตถุดิบจะนำเข้ามาจากประเทศต่างๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกด้วย
ดังนั้น เมื่อไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเกษตรกรในประเทศไทยมากนัก ทำให้การทำ CSR มุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคเป็นหลัก โดยการใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องไม่ใช่การทำงานในระยะสั้นๆ แต่มองถึงกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมแบรนด์ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนนั้น และส่งเสริมความผูกพันกับผู้บริโภคมากกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา