หนึ่งในสมรภูมิจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน คือ Huawei ที่ถูกตั้งข้อหาเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของสหรัฐ จนมีคำสั่งจากประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกัน ทำธุรกิจและธุรกรรมกับบริษัทใน Black List ซึ่ง Huawei เป็นหนึ่งในนั้น
เพื่อความเป็นธรรมกับ Huawei ต้องบอกว่า สหรัฐ ไม่มีหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ว่า Huawei เป็นภัยต่อความมั่นคง มีแต่ข้อสงสัยเท่านั้น ซึ่ง Huawei ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทจากจีนด้วย ยิ่งทำให้สหรัฐเกิดข้อสงสัยมากขึ้น
ลองมาย้อนดูผลประกอบการทางธุรกิจ Huawei มียอดส่งมอบสมาร์ทโฟนทั่วโลก ไตรมาสแรกปี 2019 ที่ 59.1 ล้านเครื่อง มีอัตราเติบโตจากปีก่อน 50.3% มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีโอกาสขึ้นสู่อันดับหนึ่งในอนาคต จุดเด่นของ Huawei ไม่ได้อยู่ที่ตัวเครื่องสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่อยู่ที่เทคโนโลยี 5G
ต้องบอกว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G โดยมี Huawei เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเทคโนโลยีแถวหน้า และนั่นอาจทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ สูญเสียตำแหน่งผู้นำไปได้
จากคำสั่งประธานาธิบดี ทำให้ Google บริษัทไอทีจากสหรัฐ ประกาศระงับการทำธุรกิจกับ Huawei (แม้ล่าสุดจะขยายเวลาการระงับออกไป 90 วัน) แต่ก็ต้องบอกว่าการทำตามคำสั่งนี้ ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับ Google และทำให้ ทวิตเตอร์ @Android ได้ออกแถลงการณ์สั้นๆ ว่า
For Huawei users’ questions regarding our steps to comply w/ the recent US government actions: We assure you while we are complying with all US gov’t requirements, services like Google Play & security from Google Play Protect will keep functioning on your existing Huawei device.
— Android (@Android) May 20, 2019
“จะยังคงให้บริการ Google Play และอัพเดตความปลอดภัยจาก Google Play Protect ให้กับอุปกรณ์ Huawei รุ่นปัจจุบัน”
ขณะที่ทาง Huawei ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า Huawei เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการและการเติบโตของแอนดรอยด์ทั่วโลก สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ Huawei ทั่วโลกสามารถใช้บริการกูเกิลได้ตามปกติ ทั้ง Google Play, Gmail, YouTube, Google รวมถึงดาวน์โหลดและอัพเดทแอพพลิเคชั่นได้ตามปกติ
ประเด็นนี้เป็นข่าวที่ถูกกล่าวถึงและมีการอัพเดทรายชั่วโมงทั่วโลก ซึ่งจนถึงตอนนี้ทิศทางของทั้ง Google และ Huawei ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสุดท้ายจะออกมาแบบใด ในโลกโซเชียล เริ่มมี #standforhuawei #supporthuawei และ #savehuawei เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ใช้ที่มองว่าการขึ้นบัญชีดำครั้งนี้ไม่แฟร์
อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิต แร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth) ที่มณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแร่ดังกล่าวที่สำคัญของประเทศ และจีนยังเป็นผู้ผลิตในสัดส่วนถึง 90% ของทั้งโลก
แร่แรร์เอิร์ธเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทคอีกมากมาย รวมถึงอาวุธ และยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีเพิ่มภาษีนำเข้าโดยสหรัฐ คาดว่าเป็นเพราะสหรัฐมีความจำเป็นต้องนำเข้าแร่ดังกล่าวจากจีน และนำเข้าแร่ดังกล่าวจากจีนถึง 80% จากปริมาณนำเข้าทั้งหมด
การเดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิตแร่แรร์เอิร์ธในครั้งนี้ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่านี่คือการส่งสัญญาณจากจีนไปยังสหรัฐว่า จีนอาจใช้แรร์เอิร์ธเป็นมาตรการตอบโต้ในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้ออกประกาศชะลอการคว่ำบาตรหัวเว่ย เป็นเวลา 90 วันไปจนถึงวันที่ 19 ส.ค. 62 เพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนและบรรดาบริษัทคู่ค้าได้มีเวลาอัพเดทซอฟต์แวร์และข้อบังคับตามสัญญาในด้านต่างๆ ทำให้ผู้ใช้หัวเว่ยได้หายใจโล่งอก ว่าสมาร์ทโฟนหัวเว่ยนั้น สามารถใช้บริการกูเกิลได้อย่างปกติ
สถานการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า Huawei ไม่สามารถพึ่งพาระบบปฏิบัติการ Android ของ Google เป็นหลักได้อีกต่อไป และแม้จะมีระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 ในชื่อ HongMeng OS หรือ Kirin OS แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ Huawei เลย
หากเป็นในประเทศจีน Huawei และระบบปฏิบัติการของตัวเองพร้อมสำหรับการใช้งาน แต่นอกประเทศจีนสิ่งที่ Huawei ขาดไปอย่างมากคือ Ecosystem โดยเฉพาะ แอพพลิเคชั่น ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งกว่าที่ Huawei จะสร้าง Ecosystem นี้ได้ก็คงใช้เวลาอีกไม่น้อยแน่นอน
สรุปแล้ว ไม่สามารถบอกได้เลยว่า เกมนี้จะจบเร็วหรือยืดเยื้อ แต่หนึ่งในทางเลือกของจีนคือ อดทนจนถึงปี 2020 ซึ่งเป็นเวลาครบเทอมของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา