ท่ามกลางสงครามการค้า และสงคราม(เย็น)ไอทีอันดุเดือดระหว่างยักษ์ใหญ่ของโลกคือ “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีน”
หนึ่งในกุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ แร่หายากที่ชื่อว่า “Rare Earth” ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญอย่างมากในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทคอีกมากมาย ซึ่งล่าสุดดูเหมือนว่าจีนที่เป็นผู้ผลิตแร่หายากชนิดนี้อันดับ 1 ของโลกได้ส่งสัญญาณขู่สหรัฐอเมริกาแล้วว่าอาจจะไม่ส่งแร่ชนิดนี้ให้ พูดง่ายๆ คือ จีนจะใช้แร่หายากชนิดนี้เป็นตัวต่อรองในสงครามการค้าครั้งนี้นั่นเอง
- แต่รู้หรือไม่ว่า ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ผลิตแร่ Rare Earth ได้เช่นกัน
แร่ Rare Earth หนึ่งในกุญแจสำคัญของสงครามการค้า
อ้างอิงข้อมูลจาก Investing News ในปี 2017 ระบุว่า ประเทศที่ผลิตแร่ Rare Earth ได้มากที่สุดในโลกคือจีน ผลิตได้มากถึง 105,000 MT ซึ่งจากผลสำรวจของ US Geological ระบุว่า ประเทศจีนในเดือนกันยายนปี 2017 ส่งออกแร่ Rare Earth ออกนอกประเทศกว่า 39,800 ตัน ซึ่งคิดแบบเปรียบเทียบแล้วสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 10%
ส่วนอันดับที่ 2 ของโลกคือออสเตรเลีย ซึ่งสามารถผลิตแร่ Rare Earth ได้ถึง 20,000 MT ตามมาด้วยอันดับ 3 คือรัสเซีย ซึ่งสามารถผลิตแร่ Rare Earth ได้ 3,000 MT อันดับที่ 4 คือบราซิล ซึ่งสามารถผลิตแร่ Rare Earth ได้ถึง 2,000 MT และอันดับที่ 5 ของโลกที่เป็นผู้ผลิตแร่ Rare Earth คือไทย โดยสามารถผลิตได้มากถึง 1,600 MT จากแหล่งข้อมูลระบุว่า สำหรับไทยยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ถือเป็นหนึ่งในตลาดนอกประเทศจีนที่ผลิตแร่หายากชนิดนี้ได้ในจำนวนมาก
ส่วนอันดับรองลงมาเช่นที่ 6 คืออินเดีย ผลิตแร่ Rare Earth ได้ 1,500 MT ตามมาด้วยมาเลเซียอันดับที่ 7 ผลิตแร่ Rare Earth ได้ 300 MT และเวียดนามอันดับที่ 8 ผลิตแร่ Rare Earth ได้ 100 MT
อย่างไรก็ตาม ตลาดแร่ Rare Earth อาจมีมูลค่าสูงเฉียด 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020
สหรัฐอเมริกาก็รู้ ประเมินเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว
การจะใช้แร่ Rare Earth เป็นข้อต่อรองในสงครามการค้าของจีน ถือเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริการับรู้และได้ประเมินไว้บ้างแล้ว โดยทางออกของเรื่องนี้มีอย่างน้อย 2 ทางคือ เปิดรับแร่หายากชนิดนี้จากประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากจีนและพันธมิตร) หรืออีกทางคือจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นอุตสาหกรรมผลิตแร่ Rare Earth นี้ขึ้นมาใหม่ในประเทศ เพราะอดีตที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาและแถบอเมริกาเหนือ บริษัทที่ผลิตแร่ Rare Earth มีเพียงรายเดียวเท่านั้นคือ Molycorp ซึ่งก็ได้ล้มละลายไปแล้วตั้งแต่ปี 2015
ที่มา – Investingnews
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา