แบกต่อไม่ไหว ไปไม่รอด… หลังจากที่กสทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ สรุปว่ามี 7 สถานีที่ไม่ขอไปต่อ ทำให้ตอนนี้เหลือ 15 สถานีที่สู้ต่อ คำถามที่เกิดขึ้นจะเปิดสถานการณ์อะไรต่อไปบ้าง?
มองผลกระทบบวก และลบ 10 ข้อ หลังช่องหายไป 7 ช่อง
หลังจากที่ทางกสทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจทัลคืนใบอนุญาตได้ในวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลสรุปว่ามีผู้ประกอบการรวม 7 ช่องด้วยกันที่ขอยกธงขาวไม่ขอไปต่อ ได้แก่
- ช่อง 13 หรือ 3 Family
- ช่อง 14 หรือ MCOT Family
- ช่อง 19 หรือ Spring News
- ช่อง 20 หรือ Bright TV
- ช่อง 21 หรือ Voice TV
- ช่อง 26 หรือ Spring 26 (NOW 26 เดิม)
- ช่อง 28 หรือ 3 SD
ทำให้ตอนนี้มีช่องทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 15 ช่อง จาก 22 ช่อง ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มของทีวีพูลได้ทำการยุติออกอากาศไป 2 ช่องแล้ว
ทั้งนี้ทาง Media Intelligence เอเยนซี่ด้านสื่อโฆษณาได้มีการประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ไว้ 10 ข้อด้วยกัน โดยมีทั้งผลกระทบด้านบวก และด้านลบ แต่มองว่าจะมีด้านบวกมากกว่า
- หลังจากปิดสถานีไป 7 ช่องแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำงานได้รับผลกระทบ ถ้ารวมกัน 7 ช่อง คาดว่าน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องรวม 2,000 คน ทั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง
2. ประชาชนมีทางเลือกในการรับชอบคอนเทนต์ หรือเลือกช่องโทรทัศน์น้อยลง จากที่เคยมี 22 ช่อง แต่เหลือ 15 ช่อง มองว่าในระยะยาวอาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
3. ในมุมมองของเอเยนซี่เชื่อว่าจะมีผลบวกมากกว่า การคืนใบอนุญาตจะช่วยลดความเสียหายของผู้ประกอบการ ลดภาวะการขาดทุนสะสม หลังจากที่ประสบมาหลายปี อีกทั้งยังได้เงินชดเชย ไม่มีภาวะเลือดไหล
4. เม็ดเงินโฆษณากระจายไปช่องอื่น แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เม็ดเงินมหาศาลขนาดนั้น เพราะทั้ง 7 ช่องมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันแค่ 8% เท่านั้น มีเม็ดเงินโฆษณารวมกัน 120 ล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่อยู่ในช่อง 3SD และ NOW26 ซึ่งเงินโฆษณาเหล่านี้จะไหลไปยังช่องที่เหลือแน่นอน
5. จุดจบคอนเทนต์อันซ้ำซาก ก่อนหน้านี้ที่มี 22 ช่องคงจะได้เห็นคอนเทนต์ที่ซ้ำกันเกือบทุกช่องทั้งเรื่องข่าว โฮมช้อปปิ้ง หรือแม้แต่ซีรีส์อินเดียที่ช่วงหนึ่งเป็นกระแสความนิยมก็มีหลายช่องทำตามๆ กัน การมีช่องน้อยลง คอนเทนต์ซ้ำๆ ก็น้อยลง ช่องที่เหลือก็เอาเงินทุนไปพัฒนาคอนเทนต์
6. 15 ช่องที่เหลือก็ยังต้องเจอศึกหนักอยู่ เป็นศึกที่ต้องเร่งพัฒนาคอนเทนต์ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ จะพึ่งพาเพียงแค่โฆษณาในทีวีอย่างเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างช่อง 3 เป็นกรณีที่เห็นชัดที่สุด มีการปิดไป 2 ช่อง แสดงว่าเป็นการถอยมาตั้งหลักแล้วเน้นแค่ช่องเดียวที่ 3HD ลุยพัฒนาคอนเทนต์ ไม่ใช่เอาละครรีรันอีกต่อไป พร้อมกับได้แม่ทัพคนใหม่ “อริยะ พนมยงค์” จาก LINE ประเทศไทยมาเสริมทัพเชื่อว่าต้องมีโปรเจ็คต์พัฒนาแพลตฟอร์มอื่นๆเพิ่มเติม
7. มุมมองของเอเยนซี่ยังมองว่า 15 ช่องยังเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ดี จากแต่ก่อนที่มีแค่ 4 ช่องหลัก แล้วเพิ่มเป็น 24 ช่อง สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือไปต่อไม่รอด เพราะมี Digital Disruption มีแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเป็นทางเลือก ถ้าดูจากเม็ดเงินโฆษณาในปัจจุบันมองว่าไม่ควรมีเกิน 10 ช่อง และต้องมีโมเดลธุรกิจอื่นๆ มารองรับด้วย
8. สถานีไม่สามารถพึ่งพารายได้จากสปอตโฆษณาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ช่องต้องมีโมเดลธุรกิจอื่นๆ เพราะตอนนี้แข่งกันกันบนตลาดที่ใหญ่ มีแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเป็นคู่แข่ง ยกตัวอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ที่มีแพลตฟอร์ม Mello และ Bugaboo ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการปูทางมาเรื่อยๆ ต้องดูว่าพฤติกรรมคนไทยจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน
9. หลายๆ ช่องเริ่มมีการปรับคอนเทนต์ และก็มีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น PPTV มีการเอาคอนเทนต์วาไรตี้อย่างรายการ The Voice เข้ามาเสริม จากเดิมที่เน้นแต่กีฬา ก็ทำให้เรตติ้งเพิ่มมากขึ้นจากอันดับ 18 ขึ้นมาเป็น 11
10. ส่วนช่อง 8 ของ “เฮียฮ้อ” สามารถอยู่ได้จากการขายของ มีโมเดลธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว เป็นช่องที่มีเป้าหมายต่างจากช่องอื่นไปแล้ว ไม่หวังกำไรจากโฆษณา แต่มีการพัฒนาคอนเทนต์เพื่อดึงคนเข้ามาดู แล้วเน้นหารายได้จากการขายสินค้าของตัวเองมากกว่า เรียกว่าเป็นช่องที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา