หากสังเกตบนท้องถนนจะพบว่ารถยนต์ SUV หรือ Sport Utility Vehicle นั้นวิ่งอยู่จำนวนมาก แถมเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย เพราะมันเกิดขึ้นทั่วโลก แล้วอย่างนี้มันจะเรียกว่าหมดยุครถเก๋งแล้วหรือไม่
วนกลับมาสู่ยุครุ่งโรจน์ของ SUV อีกครั้ง
รถยนต์แบบ SUV นั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 30s (พ.ศ. 2473) เพราะเป็นภาวะสงคราม และมีการใช้รถยนต์ลุยๆ แบบนี้ในทางทหารกันเต็มไปหมด จนเกิดการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปจำนวนน้อย ส่วนถ้าผลิตแบบจำนวนมากจริงๆ ต้องช่วงทศวรรษ 80s (พ.ศ. 2523) เพราะมันเป็นการประยุกต์รถแบบลุยๆ ให้ใช้งานได้จริงบนท้องถนน
แต่กว่าจะเข้าจุดนิยมสูงสุดในตัว SUV ช่วงแรกก็ต้องรอถึงปลายทศวรรษ 90s ถึงต้น 2000 (พ.ศ. 2533-2543) เพราะเริ่มมีค่ายผู้ผลิตหลากหลายแบรนด์ทำตลาดรถยนต์แบบนี้ ถึงขนาดผู้บริโภคมองข้าม Sedan กับ Station Wagon หรือรถเก๋ง กับรถแวน เพื่อไปเลือกซื้อรถคันใหญ่ๆ ลุยๆ แทน
อย่างไรก็ตามพอเข้าช่วงกลางปี 2010 (พ.ศ. 2553) ความนิยมของรถยนต์ SUV เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้กลับมากับขนาดใหญ่ๆ แต่กลายเป็น SUV ขนาดกลาง และเล็ก หรือที่เรียกว่ารถ Crossover แทน ซึ่งทุกค่ายผู้ผลิตก็ออกแบบรถยนต์ดังกล่าวออกมาเพื่อตอบโจทย์คนเมืองแต่ต้องการใช้งานแบบลุยๆ ด้วย
SUV บูมจนกินสัดส่วนตลาด 36.4% ในปี 2561
ยิ่งในปี 2561 บริษัทสำรวจ และวิจัย JATO พบว่า ยอดขายรถยนต์ SUV ทั่วโลกมีถึง 29.77 ล้านคัน คิดเป็น 36.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภท โดยการเติบโตครั้งนี้มาจากความนิยมในตลาดสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีนที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และจีนที่มียอดขายเกือบ 50% ของรถยนต์ทุกประเภทเลยทีเดียว
ทั้งนี้ตัวรถ SUV ที่นิยมที่สุดในปี 2561 ก็ไม่พ้น SUV แบบ Compact ที่นำมาโดย Toyota Rav4 และ Honda CR-V โดยกินสัดส่วนยอดขาย SUV ทั่วโลกถึง 41% อาจเพราะตัวขนาด และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงค่อนข้างเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน รองลงมาเป็นกลุ่ม Mid-Size, Sub-Compact และ Large ตามลำดับ
มากกว่าไปกว่านั้นคือกลุ่มค่ายรถยนต์หรูก็หันมาทำตลาด SUV กันเต็มที่ด้วย และประเภท SUV ที่จำหน่ายได้ดีก็คือกลุ่ม Compact เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น GLC ของ Mercedes-Benz หรือ X3 ของ BMW ซึ่งทั้งคู่ก็มีการพัฒนาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ดีกว่าเดิมด้วย เรียกได้ว่าขับคันใหญ่ แต่ก็ประหยัดน้ำมัน และปล่อยมลพิษน้อย
อนาคตอันไกล้ SUV ก็ยังอยู่เหมือนเดิม
เมื่อเกือบทุกค่ายหันมาเน้นทำตลาดรถยนต์ SUV ก็ไม่แปลกที่ตัวสัดส่วนรถประเภทนี้เมื่อเทียบกับรถแบบอื่นของแบรนด์ต่างๆ จะมีมากกว่าเดิม เช่น Honda และ BMW ก็กินสัดส่วนถึงเกือบ 40% ยิ่งแบรนด์จีนเกือบทุกเจ้า โดยเฉพาะ Geely เจ้าของแบรนด์ Volvo ก็ทำตลาด SUV เกินครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่น
ดังนั้นพอทุกค่ายหันมาเล่นตลาดนี้กันหมด ตัวยอดขาย SUV จึงน่าจะเป็นที่นิยมไปอีกในอนาคตอันไกล้นี้ เพราะการปรับเปลี่ยนไลน์ผลิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นในสหรัฐอเมริกาก็มีการคาดการณ์ว่ายอดขาย SUV จะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2563
ส่วนประเทศไทยนั้น ทิศทางตลาด SUV ก็เติบโตเช่นเดียวกับตลาดโลก สังเกตจากแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ที่หันมาทำตลาดรถยนต์ประเภทนี้มากกว่าเดิม ทั้งฝั่งแบรนด์ญี่ปุ่นที่แทบจะทำตลาดทุกรูปแบบ และแบรนด์หรูเองก็ต่างชู SUV ขึ้นเป็นหัวหอกในการทำตลาด ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ SUV เต็มเมืองก็มีสูง
สรุป
ตลาด SUV มันเหมือนกับรถเก๋งแล้ว เพราะมีตั้งแต่ตลาด Sub Compact เช่น C-HR, BR-V และ HR-V คล้ายกับกลุ่ม Yaris Ativ หรือ City ของ Honda ก่อนขยับมาที่ Compact เช่น CX-5 และ Forester ที่เหมือนกับ Mazda 3 หรือ Civic นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Mid และ Large ที่คล้ายกับรถเก๋งขนาดใหญ่
ทั้งหมดนี้มันพิสูจน์ด้วยความนิยมของผู้บริโภคในตัวรถ SUV ที่อยากได้ในทุกขนาด จึงไม่แปลกที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต้องทำออกมาเพิ่มยอดขาย และส่วนตัวเชื่อว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่งแน่นอน ส่วนจะเต็มเมืองขนาดไหนนั้น ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องราคาด้วยเหมือนกันครับ เพราะรถเก๋งธรรมดาย่อมถูกกว่า SUV อยู่แล้ว
อ้างอิง // JATO, Quartz, GM, Fortune
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา