รู้จัก Lonely Marketing เทรนด์การตลาดจับกลุ่มคนเหงา

ความเหงาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป เกิดเป็นคนกลุ่มใหญ่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากมาย มีหลายธุรกิจที่ตอบโจทย์คนเหงา แต่ในประเทศไทยจะเป็นคนกลุ่มไหน และมีธุรกิจอะไรบ้างจะพาทุกคนได้รู้จักกัน

คนเหงาชาวไทยทะลุ 26.75 ล้านคน วัยรุ่นคนทำงานจอมเหงาสุด

การทำการตลาดยุคนี้จำเป็นต้องเจาะเซ็กเมนต์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อที่จะนำเสนอแคมเปญการตลาดได้ตรงจุด เหมาะกับไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของกลุ่มนั้นๆ

กลุ่มคนเหงาเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ และน่าจับตามองอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งเทรนด์การตลาดที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เพราะตอนนี้กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าบางประเทศได้มีนโยบายบางอย่างเพื่อรองรับกลุ่มคนเหงาเลยด้วย

ถ้าจะให้นิยามคำว่าคนเหงาคงจะยากพอสมควร เพราะแต่ละบุคคลมีระดับความเหงาที่แตกต่างกัน แต่ภาพรวมๆ คงจะหมายถึงคนที่รู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว ความเหงาเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านอารมณ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน

ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU จึงได้เผยข้อมูลงานวิจัย “Lonely in the Deep : เจาะลึกตลาดคนเหงา เน้นศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของกลุ่มคนเหงา มาต่อยอดสู่ธุรกิจบลูโอเชียนที่มีความแปลกแตกต่างจากตลาดธุรกิจเดียวกัน 

จากงานวิจัยพบว่า ปัจจุบันตัวเลขตลาดคนเหงาในประเทศไทย มีจำนวนสูงกว่า 26.75 ล้านคน ซึ่งกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุด ได้แก่ วัยรุ่น และวัยทำงาน ในสัดส่วน 33% และ 34.7% ตามลำดับ

ยกตัวอย่างผลสำรวจภาวะความเหงาของประชากรในสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส พบว่า กลุ่มเยาวชน Gen Z อายุระหว่าง 18 – 22 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบภาวะเหงาสูงสุด โดยผลสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยการตลาดในกลุ่มคนเหงา ในประเทศไทย ของวิทยาลัยฯ ที่พบว่า 40.4% ประสบภาวะความเหงาในระดับสูง

โดยช่วงอายุที่มีแนวโน้มความเหงาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 23 – 40 ปี ครองอันดับสูงสุด 49.3% เยาวชนวัยเรียน อายุระหว่าง 18 – 22 ปี 41.8% และ วัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 41 – 60 ปี 33.6% ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี กลับประสบภาวะความเหงาเพียง 24.5% เนื่องจากมีความพร้อมด้านการจัดการอารมณ์ และรายได้เพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมแก้เหงาเพิ่มสูงขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น

ใช้โซเชียลมีเดียบำบัดความเหงา

จากข้อมูลงานวิจัยพบว่า 3 พฤติกรรมที่จัดการความเหงาที่ผู้คนมักใช้ ได้แก่ 

  1. เข้าถึงโซเชียลมีเดีย เป็นวิธีช่วยคลายเหงา ที่เข้าถึงง่าย  สามารถสร้างความรู้สึกร่วมกับสังคมเสมือนบนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงยังเป็นหนึ่งในวิธีการแก้เหงาที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 
  2. รับประทานอาหารในร้านอาหารหรือคาเฟ่ หนึ่งกิจกรรมที่มอบความสุขให้กับตัวเอง ไปพร้อมกับการมีผู้คนอยู่รอบตัว ซึ่งช่วยลดทอนบรรยากาศ และความรู้สึกโดดเดี่ยว
  3. การช้อปปิ้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยหลบหนีความรู้สึกด้านลบในจิตใจแล้ว ยังตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ได้เช่นเดียวกับการไปร้านอาหารหรือคาเฟ่ รวมถึงใช้ความพยายาม และค่าใช้จ่าย ในการทำกิจกรรมน้อยที่สุด

5 ธุรกิจดาวรุ่งเอาใจคนเหงา

มีนักการตลาดในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่เริ่มปรับใช้การตลาดกลุ่มคนเหงาเข้ากับธุรกิจ และปั้นธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ มากมาย อาทิ แอปพลิเคชันนัดออกกำลังกายสำหรับคนเหงา อพาร์ตเม้นต์ที่มีส่วนกลางให้ผู้พักอาศัยทำกิจกรรมร่วมกันในสหรัฐฯ ธุรกิจเช่าครอบครัว หรือเพื่อนเสมือน ในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี หรือธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เป็นต้น 

โดยคาดว่าการขยายตัวของตลาดคนเหงาในประเทศจะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจรองรับความต้องการคนเหงาเติบโตเพิ่มขึ้นซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับอานิสงค์ได้แก่

1. ธุรกิจคอมมิวนิตี้ อาทิ ร้านอาหาร คาเฟ่ บอร์ดเกมส์ ฯลฯ

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และ Co-working Space

3. ธุรกิจดิจิทัล อาทิ แอปพลิเคชันออนไลน์ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีสารสนเทศ

4. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง

5. ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นตลาดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเหงาได้อย่างเต็มที่ และเข้ากับไลฟ์สไตล์คนเหงาปัจจุบัน 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Ratinun Chaiwiboolvech | Content Editor | Marketing | Retail | Media | Liverpool ratinun.tk@gmail.com