สัมภาษณ์ ตรีพล ภูมิวสนะ ผู้บริหาร KBank กับ K-CHANGE กองทุนที่ช่วยให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

หากจะหากองทุนที่ช่วยให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก รวมไปถึงบริษัทคุณภาพที่ลงทุน มีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้จริง K-CHANGE กองทุนนี้อาจคือคำตอบของคุณ

ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ

Brand Inside สัมภาษณ์ ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director – Private Banking Business Head จากธนาคารกสิกรไทย เกี่ยวกับกองทุน K-CHANGE ที่เปิดตัวไปได้ไม่นานว่ากองทุนนี้มีความน่าสนใจอย่างไร

ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ ได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องของการลงทุนในบริษัทที่มีคะแนน ESG สูงๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ที่กำลังมีความนิยมในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา โดยถ้าบริษัทไหนคะแนนสูงๆ ก็จะลงทุน แต่ถ้าบริษัทไหนคะแนนน้อยก็จะไม่ลงทุน

แต่สำหรับการลงทุนแนว Impact Investing ดร. ตรีพล มองว่าเป็นมากกว่านั้น “คือ Impact Investing จะไม่ได้ดูคะแนน ESG แต่จะดูว่าบริษัทที่ลงทุนทำอะไรไปได้บ้าง และยังได้สร้างเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ในด้านต่างๆ เช่น สังคมและการศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิต รวมไปถึงความต้องการพื้นฐานของประชากรที่ยากจน

กองทุน K-CHANGE จะลงทุนในกองทุนของ Baillie Gifford – Positive Change Fund โดยกองทุนจะโฟกัสหุ้นในพอร์ตการลงทุนประมาณ 25-50 ตัวในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และเน้นบริษัทที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก Impact Investing ใน 4 ด้านที่ได้กล่าวไปข้างต้น ดร. ตรีพล กล่าวว่า “การหาหุ้นที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เปลี่ยนแปลงเชิงบวกและหุ้นตัวนั้นต้องมีผลตอบแทนที่ดีหาได้ยาก ทำให้พอร์ตการลงทุนมีหุ้นไม่มาก”

สำหรับบริษัทที่กองทุนมีนำ้หนักการลงทุนมากที่สุด ดร. ตรีพล ได้ยกตัวอย่างและเล่าถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ได้แก่

  • Chr. Hansen บริษัทจากประเทศเดนมาร์ก ผลิตและพัฒนา Probiotics สีผสมอาหาร และเอนไซม์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เช่น โยเกิร์ต ชีส ฯลฯ รวมไปถึงการเกษตร สิ่งที่บริษัทได้สร้างความเปลี่ยนแปลงคือ ผลิตเอนไซม์ที่สามารถทำให้อาหารสามารถยืดอายุได้ยาวมากขึ้น ลดความสูญเสียจากการทิ้งอาหารเป็น        จำนวนมากๆ ยังรวมไปถึงการพัฒาแบคทีเรียที่ทำให้รากของต้นไม้แข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
  • Tesla Motors อย่างที่เราทราบกันว่า Elon Musk ต้องการเปลี่ยนโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้า มีสินค้าออกมา แม้ว่าตัว Elon เองจะประสบปัญหาต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่สิ่งสำคัญที่บริษัทได้ทำคือรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถลดมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และมีการเปิดสิทธิบัตรของบริษัทบางตัวให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่นนำไปใช้ได้
  • Illumina บริษัทที่ผลิตและวิจัยเครื่องตรวจยีน จากเดิมถ้าหากจะตรวจยีนจะต้องจ่ายแพงมาก จาก 1 ล้านเหรียญสหรัฐในอดีต เหลือเพียงแค่หลักพันเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทได้ผลิตออกมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแพทย์อย่างมาก เพราะว่าทำให้แพทย์สามารถทดลองยาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคนได้
  • TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) บริษัทเป็นผู้ผลิตชิป รวมไปถึงชิ้นส่วนอื่นๆ ที่สำคัญของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบริษัทได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ และแน่นอนว่าทำให้สามารถเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย

ดร. ตรีพล ยังได้กล่าวว่า “นอกจากนี้กองทุนยังสามารถทำตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGS ของสหประชาชาติ ได้ถึง 13 จาก 17 ข้อทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นวัตกรรมในอุตสาหกรรม พลังงานสะอาด เป็นต้น”

ไม่เพียงแค่นั้นกองทุนของ Baillie Gifford ไม่ได้วัดแค่เป้าของผลตอบแทนการลงทุนเท่านั้น แต่กองทุนยังมีรายงานถึงบริษัทที่กองทุนลงทุนว่าได้เปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรให้โลกดีได้ขึ้นบ้าง ยกตัวอย่างเช่น Bank Rakyat จากประเทศอินโดนีเซียที่ปล่อยกู้ให้กับชาวอินโดนีเซียผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ก็จะมีรายงานว่าลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นหรือไม่

ทำไม KBank Private Banking ถึงต้องนำกองทุนนี้มาแนะนำให้ลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งสูงของธนาคาร ดร. ตรีพล มองว่ากองทุนนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ และ KBank Private Banking อยากจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้ และคิดว่ากองทุนนี้มีประโยชน์หลายด้าน คนที่ได้ประโยชน์คือเด็กในอนาคต จึงเป็นที่มาของกองทุน K-CHANGE

สำหรับลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งสูงของ KBank Private Banking ดร. ตรีพล ได้แนะนำว่า กองทุนนี้อยู่ 1 ในธีมการลงทุนระยะยาวที่มองไว้ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ ชาวจีน ความยั่งยืน ซึ่งกองทุน K-CHANGE อยู่ในธีมเหล่านี้ ไม่เพียงแค่นั้นลูกค้าทั่วไปของธนาคารก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยสามารถลงทุนกับกองทุน K-CHANGE และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนรุ่นต่อไปได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา