สถานการณ์ด้านการเงินของ Sony ยักษ์ใหญ่แห่งโลกอิเล็กทรอนิกส์ ดูจะกลับมาสดใสหลังจากขาดทุนติดต่อกันมานาน 8 ปี (ในช่วงปี 2008-2014) โดยบริษัทพลิกกลับมาทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
Brand Inside เคยเล่าถึงสภาพธุรกิจของ Sony ในปี 2016 และปี 2017 ที่กลับมาดีวันดีคืน ล่าสุด Sony เพิ่งประกาศงบการเงินของปีการเงิน 2018 (นับจากเดือนเมษายน 2018 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2019) ผลคือสามารถสร้างกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ทะลุหลัก 1 ล้านล้านเยนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
รายได้เติบโต 1% แต่กำไรเพิ่มถึง 45%
ภาพรวมของธุรกิจ Sony ในปีการเงิน 2018 เทียบกับปีการเงิน 2017 ต้องบอกว่ารายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ 1% เป็น 8.66 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท) แต่กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมากคือ 45% โดยบริษัทมีกำไร 1.01 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริษัทที่มีกำไรทะลุหลักล้านล้านเยน
เหตุผลที่ Sony มีกำไรรวมเพิ่มขึ้น มาจากสองประเด็นคือ
- กำไรก่อนการดำเนินงาน (operating income) ที่สูงถึง 8.94 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน อันเป็นผลจากธุรกิจเกม PlayStation ที่ผลกำไรยอดเยี่ยม และธุรกิจเพลงที่มีรายได้พิเศษจากการควบรวมค่ายเพลง EMI เสร็จสมบูรณ์
- รายได้พิเศษ (other income) อีก 1.17 แสนล้านเยน เกือบทั้งหมดมาจากมูลค่าของหุ้น Spotify ที่เพิ่ง IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2019 (Sony ถือหุ้นอยู่ประมาณ 5.7%) โดย Sony ขายหุ้นออกไปบางส่วนและยังถือหุ้นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
ถึงแม้ปีการเงิน 2018 มีรายได้พิเศษจากหุ้น Spotify เข้ามาช่วยดันให้กำไรพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านเยน แต่ถ้าดูเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานของ Sony ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
รายได้ของ Sony มาจากไหน? เกม เพลง ชิป คือหัวใจหลัก
ธุรกิจของ Sony แตกออกเป็นหลายแขนง ปัจจุบัน Sony ใช้วิธีรายงานผลประกอบการออกเป็นทั้งหมด 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
- Game & Network Services (G&NS) หรือเรียกง่ายๆ คือธุรกิจ PlayStation ทั้งหมด
- Music ธุรกิจเพลงใต้แบรนด์ Sony Music ซึ่งรวมรายได้จากเกมมือถือ (ที่เป็นของ Sony Music คนละส่วนกับ PlayStation)
- Pictures ธุรกิจภาพยนตร์ของ Sony Pictures
- Home Entertainment & Sound (HE&S) ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี เครื่องเสียง หูฟัง
- Imaging Products & Solutions (IP&S) ธุรกิจกล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์ด้านการแพทย์
- Mobile Communications (MC) ธุรกิจโทรศัพท์มือถือแบรนด์ Xperia
- Semiconductors ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ชิปประมวลผลกล้องในมือถือ
- Financial Services ธุรกิจด้านการเงินในญี่ปุ่น เช่น ธนาคาร ประกันภัย ประกันชีวิต
หากดูตัวเลขของปีการเงิน 2018 จะเห็นว่าธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรให้ Sony มากที่สุดคือ ธุรกิจเกม PlayStation ที่คิดสัดส่วนรายได้ถึง 26% ของรายได้ทั้งหมด และถือเป็นแกนกลางสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของ Sony พลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง
ส่วนธุรกิจที่สร้างรายได้ (sales) มากเป็นอันดับสองคือ ธุรกิจการเงิน (14%) ซึ่งเป็นธุรกิจที่คอยอุ้มชูให้ Sony มาโดยตลอดในช่วงตกต่ำ ตามด้วยธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า (13%), ภาพยนตร์ (11%), เซมิคอนดักเตอร์ (10%) และเพลง (9%)
แต่ถ้าดูจากตัวเลขกำไรอย่างเดียว กำไรของ Sony มาจากเกม, เพลง, เซมิคอนดักเตอร์ และธุรกิจการเงิน ตามลำดับ ในขณะที่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและภาพยนตร์ ถึงแม้สร้างรายได้ค่อนข้างสูง แต่สัดส่วนกำไรกลับไม่สูงมากนัก
ธุรกิจมือถือยังขาดทุน ธุรกิจเกมเตรียมลงทุนใน PlayStation 5
หน่วยธุรกิจเดียวของ Sony ที่ยังขาดทุนหนักคือ Mobile Communications หรือธุรกิจสมาร์ทโฟนแบรนด์ Xperia นั่นเอง
ตรงนี้คงไม่น่าแปลกใจนัก เพราะโลกสมาร์ทโฟนมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนที่ออกมาตีตลาดโลกอย่างหนัก ส่งผลให้แม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Samsung หรือ Apple ยังมีปัญหา แถมสมาร์ทโฟนแบรนด์ Xperia ก็อยู่ในสภาพถดถอยมานานแล้ว
ยุทธศาสตร์ด้านสมาร์ทโฟนของ Sony ในตอนนี้จึงเป็นการปรับลดขนาดของธุรกิจลง ถอนตัวจากภูมิภาคที่แข่งขันไม่ไหวอย่างตะวันออกกลาง อเมริกากลาง-ใต้ (รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถอนตัวมาสักพักแล้ว), ปิดโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศจีน (ตอนนี้เหลือฐานผลิตในประเทศไทยเพียงที่เดียว) โดยบริษัทคาดว่าจะกลับมาทำกำไรจากสมาร์ทโฟนได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปีการเงิน 2020
ในทางกลับกัน หน่วยธุรกิจที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมมากๆ คือธุรกิจเกม ที่ขายฮาร์ดแวร์ PlayStation 4 ได้เกือบแตะ 100 ล้านเครื่องแล้ว อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการขายซอฟต์แวร์-บริการเกี่ยวกับเกมได้อีกมหาศาล ตลอดทั้งปี Sony มีรายได้จากวิดีโอเกมสูงถึง 2.3 ล้านล้านเยน (6.6 แสนล้านบาท) และมีกำไรถึง 3.1 แสนล้านเยน (9 หมื่นล้านบาท)
แน่นอนว่า PlayStation 4 ถือเป็นเครื่องเล่นเกมที่ประสบความสำเร็จสูงมากในประวัติศาสตร์ (ในบรรดาฮาร์ดแวร์ของบริษัทตัวเอง มียอดขายเป็นรองแค่ PlayStation 2 เท่านั้น ขายดีกว่า PlayStation 3) แต่ตัวเครื่องที่วางขายมาตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบันมีอายุเกือบ 6 ปีแล้ว ก็เริ่มอยู่ในช่วงขาลงของวัฏจักรเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องเปิดตัวทุก 6-7 ปี
Sony จึงประกาศอัดงบลงทุนให้กับ PlayStation รุ่นถัดไป (ที่เราเรียกกันว่า PlayStation 5 แต่ยังไม่ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ) โดยคาดว่าธุรกิจเกมในปีการเงิน 2019 จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปีนี้ แต่จะมีกำไรน้อยลงเนื่องจากนำเงินไปใช้ลงทุนพัฒนาฮาร์ดแวร์ตัวใหม่นั่นเอง
ภาพรวมธุรกิจปี 2019 รายได้คงตัว กำไรลดเพราะลงทุนเพิ่ม
Sony ยังประเมินธุรกิจของปีการเงิน 2019 (นับจากเดือนเมษายน 2019 ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2020) ว่าะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2% เป็น 8.8 ล้านล้านเยน
ส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (operating income) จะลดลงจากการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้ง PS5 และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์/AI และตัวเลขที่หายไปจากกำไรพิเศษของปี 2018 ของ Sony Music ที่ได้การลงบัญชีรายได้จาก EMI เข้ามาช่วย
นอกจากนี้ Sony ยังจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยนำธุรกิจทีวี Home Entertainment & Sound (HE&S) ธุรกิจกล้องถ่ายรูป Imaging Products & Solutions (IP&S) และธุรกิจสมาร์ทโฟน Mobile Communications (MC) มายุบรวมกันเป็นหน่วยธุรกิจเดียว ใช้ชื่อว่า Electronics Products and Solutions (EP&S) ซึ่งจะมีผลในปีการเงิน 2019 เป็นต้นไป
การยุบรวมธุรกิจทั้งสามหน่วยเป็น EP&S เพียงหน่วยเดียว ทำให้รายได้รวมของ EP&S อยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านล้านเยนต่อปี ไล่เลี่ยกับธุรกิจเกม (G&NS) และ Sony ก็หวังว่าการจัดโครงสร้างใหม่ น่าจะช่วยให้ธุรกิจสายเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาทำกำไรได้มากขึ้น
มาถึงจุดนี้เราคงพูดได้เต็มปากแล้วว่า ยุคตกต่ำของ Sony จบสิ้นลงอย่างเป็นทางการแล้ว การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จด้วยดี และบริษัทก็เข้าสู่โหมดเดินหน้าธุรกิจเต็มตัว เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคทองอีกครั้ง
ที่มา – Sony (PDF), Sony (PDF)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา