SCB EIC ได้ปรับประมาณการ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอยู่ที่ 3.6% เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยยังอยู่ในสภาวะกดดันจากเรื่องของสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีสภาวะชะลอตัว
SCB EIC ได้ปรับประมาณการ GDP ของไทยปีนี้ลงมาเหลือแค่ 3.6% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และได้รับผลกระทบจากนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น จากครึ่งหลังของปี 2018 ที่ผ่านมา ผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวทำให้ภาคการส่งออกของไทยหดตัวมากถึง 70% ของตลาดส่งออกรวม นอกจากนี้ภาคธุรกิจต่างๆ ยังชะลอเพื่อดูทิศทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป
Brand Inside สรุปประเด็นน่าสนใจจากบทวิเคราะห์ของ SCB EIC ของไตรมาส 2 มาฝาก
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แต่ขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนของ Brexit ส่งผลกระทบถึงความไม่แน่นอนในทวีปยุโรป
ขณะที่ประเทศจีนก็กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของเศรษฐกิจจีน ล่าสุดจีนกำลังเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การส่งเสริมภาคธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายพัฒนาสินค้าไฮเทคต่างๆ และยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงธนาคารกลางจีนพยายามปรับลด RRR ลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
3 ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามองได้แก่
- สงครามการค้า
- สภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว
- ปัญหาเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์
ส่งออกไทยชะลอตัวจากสงครามการค้า
ในด้านของภาคการส่งออกของไทยยังอ่อนแอเนื่องจากสงครามการค้าจากสหรัฐฯ และจีน ที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยยอดการส่งออก 2 เดือนแรกของไทย -3.2% YOY เป็นการหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ และผลดังกล่าวยังกระทบมาที่ไทยเนื่องจากไทยเป็น 1 ในห่วงโซ่ของการผลิตสินค้า
ผลกระทบทางอ้อมที่จะเริ่มจะได้เห็นบ้างแล้วเช่น สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง -21.7% YOY แผงวงจรไฟฟ้า -28% YOY อย่างไรก็ดีมีสินค้าบางชนิดที่ไม่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า เช่น เม็ดพลาสติก หรือกลุ่มเคมีภัณฑ์ ขณะที่ผลกระทบอีกด้านจากสงครามการค้าคือเรื่องของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไม่เกี่ยวกับสงครามการค้าได้รับผลกระทบตามไปด้วย
สิ่งที่ต้องจับตามมองคือผลการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ถ้าหากจีนยินยอมนำเข้าสินค้าสหรัฐในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิต ก็จะส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าออกไปยังจีน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดที่จีนยอม และยังทำให้ทั้ง 2 ประเทศต้องหาตลาดทดแทนซึ่งไทยอาจได้โอกาสสำหรับบางสินค้า เช่น กุ้งแช่แข็ง วิสกี้ บุหรี่ อาหารสัตว์ เป็นต้น
เรื่องอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย
ยังมีประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย เช่น
- แรงกดดันของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่คือในเรื่องของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ปัจจัยที่สำคัญคือราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ และสภาวะแวดล้อมที่กำลังเข้าสู่ภัยแล้ง เนื่องจากสภาวะเอลนินโญ่ รวมไปถึงสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำและมีสินค้าล้นตลาด เช่น อ้อย ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น
- หนี้ในครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ 78.6% ของ GDPทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 2 ปี ก็ยังเป็นแรงกดดันทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่สามารถเร่งการใช้จ่ายได้ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมามากเท่าไหร่นัก
- ลูกจ้างนอกภาคเกษตรของไทยได้รับค้าจ้างที่ดีขึ้น ทั้งภาคผลิตและภาคบริการ
- SCB EIC เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายกำกับการเงิน จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดปี 2019 เนื่องจากความเสี่ยงในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา